คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2537 เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรด้านสัตวแพทย์ เป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งแรกในภาคเหนือ โดยมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เปิดสอนหลักสูตรปริญญาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 6 ปี) ซึ่งมีการพัฒนาหลักสูตรจากการประชุมกลุ่มสถาบันสัตวแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งประเทศไทยโดยมุ่งเน้นการบูรณาการ (Subject Integration) การเรียนรู้จากการแก้ปัญหา (Problem-Based Learning) และเน้นการสร้างประสบการณ์วิชาชีพ (Professional Skills) เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกปีการศึกษา 2539 โดยมี รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เทอด เทศประทีป เป็นคณบดีคนแรกและคณบดีก่อตั้ง (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 2538-2545) และเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโท หลักสูตรสัตวแพทย์สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต ซึ่งเป็นหลักสูตรร่วมกับ Freie Universitte Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในปีการศึกษา 2546 และในปีการศึกษา 2551 คณะเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก(หลักสูตรปกติ) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สัตวแพทย์ ปีการศึกษา 2554 มีการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (หลักสูตรนานาชาติ) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การสัตวแพทย์ และในปีการศึกษา 2556 ได้เปลี่ยนชื่อสาขาวิชาของหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (หลักสูตรปกติ) เป็น "วิทยาศาสตร์การสัตวแพทย์" ต่อมาในปี พุทธศักราช 2551 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ส่งผลให้คณะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 คณะสัตวแพทยศาสตร์ได้แบ่งส่วนงานภายในออกเป็น 6 หน่วยงานได้แก่ 1. สำนักงานคณะ 2. ภาควิชาคลินิกสัตว์บริโภค 3. ภาควิชาคลินิกสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า 4. ภาควิชาชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์และสัตวแพทย์สาธารณสุข 5. ศูนย์บริการสุขภาพสัตว์ 6. ศูนย์สัตวแพทย์สาธารณสุขเอเชียแปซิฟิก
ปรัชญา (PHILOSOPHY)
สร้าง พัฒนา ถ่ายทอด และประยุกต์องค์ความรู้จากนานาชาติสู่ท้องถิ่น และจากท้องถิ่นสู่นานาชาติ
Create, develop ,distribute and apply knowledge on local and international level.
วิสัยทัศน์ (VISION)
“คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถานศึกษาชั้นนำในเอเชีย และรับใช้สังคม”
พันธกิจ (MISSION)และเป้าหมาย
1.จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและวิชาชีพชั้นสูง โดยมุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ บัณฑิตมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และรอบรู้คู่คุณธรรม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2.ผลิตผลงานวิจัยทางสัตวแพทย์ เพื่อสามารถสนับสนุนการเรียนการสอนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ
3.ให้บริการวิชาการแก่สังคม มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
4.ทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคเหนือ
5.พัฒนาระบบบริหารจัดการ ด้วยหลักธรรมมาภิบาล พึ่งตนเองโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง