สัญลักษณ์มหาวิทยาลัย
ตรา เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
|
ตราและเครื่องหมายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในภาคภาษาไทย เป็นรูปวงกลมซ้อนกันสองวง วงกลมชั้นนอกจำนวนสองเส้นเป็นขอบของตราเครื่องหมาย และวงกลมชั้นในหนึ่งเส้น ช่องระหว่างวงกลมสองชั้นด้านบน มีอักษรไทยภาษาบาลีว่า “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” ด้านล่างมีอักษรไทยว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๐๗” ระหว่างต้นและปลายอักษรด้านบนและด้านล่างมีรูปดอกสักหนึ่งรูปคั่นกลางทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ด้านละหนึ่งรูป ภายในวงกลมมีรูปช้างอยู่ในท่าก้าวย่าง และใช้งวงชูคบเพลิงรัศมีแปดแฉก หันหน้าไปทางซ้าย |
|
ตราและเครื่องหมายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในภาคภาษาอังกฤษ เหมือนกับตรา และเครื่องหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในภาคภาษาไทย แต่เปลี่ยนอักษรไทยจาก “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” และ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๐๗” เป็นอักษรภาษาอังกฤษว่า “Attānaṃ Damayanti Paṇḍitā” และ “CHIANG MAI UNIVERSITY SINCE 1964” ตามลำดับ |
|
สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ รูปในวงกลมชั้นใน ได้แก่ รูปช้างอยู่ในท่าก้าวย่าง และใช้งวงชูคบเพลิงรัศมีแปดแฉก |
การใช้งานตราและเครื่องหมายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่ใช้ในพิธีการ รูปวงกลมทั้งสองชั้นและรูปดอกสักเป็นสีเขียว อักษรทั้งด้านบนและด้านล่าง พื้นช่องระหว่างวงกลมสองชั้นเป็นสีขาว และพื้นวงกลมวงในเป็นสีม่วงซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย รูปช้างและคบเพลิงเป็นสีขาว
สีตราประจำมหาวิทยาลัย กำหนดดังนี้
ภาพสีม่วงดอกรัก
|
ตราช้างและอักษร กำหนดให้ใช้สีม่วงตามสีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีม่วงดอกรัก ซึ่งเป็นสีผสมของสี MAGENTA กับ สี CYAN ในอัตราส่วน 60:40 โดยมีรหัสสีในระบบ CMYK เป็น M60 C40 หรือรหัสสีในระบบ RGB เป็น R158 G118 B180 |
ภาพสีเขียว
|
ขอบวงกลม กำหนดให้ใช้สีเขียว (Virlidian) โดยมีรหัสสีในระบบ CMYK เป็น C83 M36 Y100 K29 หรือรหัสสีในระบบ RGB เป็น R40 G100 B40 |
ความหมายของตรา เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีดังนี้
- ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติที่มีคุณค่าสูงมากในภาคเหนือ จึงเป็นสัญลักษณ์ของภาคเหนือ
- การก้าวย่างของช้าง หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง
- คบเพลิง หมายถึง ความสว่างไสวแห่งปัญญาและวิชาการ
- รัศมีแปดแฉก หมายถึง คณะทั้งแปดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะจัดตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ดอกสัก เป็นสัญลักษณ์ต้นไม้ทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ หมายถึง ความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์
- คำบาลี อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา เป็นพุทธภาษิตและเป็นภาษิตประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความหมายว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน
- พ.ศ. 2507 เป็นปีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ข้อกำหนดการใช้งาน
ให้เป็นไปตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 128 ตอนพิเศษ 146 ง 2 ธันวาคม 2554 เรื่อง ประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง ตรา เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย มีสาระสำคัญ ดังนี้
- ตรา เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้เฉพาะกิจการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เท่านั้น
- การใช้ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อการค้าจะกระทำมิได้ เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในกิจการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิการบดี หรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย
- การใช้ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มิใช่เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือกิจการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยตรงจะกระทำมิได้ ทั้งนี้
หากจะเกิดประโยชน์แก่สมาคมนักศึกษาเก่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือกลุ่มนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็อาจกระทำได้โดยต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิการบดี หรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมายก่อน
- ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องปฏิบัติดังนี้
- ใช้ตามวัตถุประสงค์การขอใช้และตามที่ได้รับอนุญาต
- ใช้ในสถานที่ พื้นที่ หรือบนสิ่งของที่เหมาะสมเช่นวิญญูชนพึงปฏิบัติและด้วยความเคารพในตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ดังกล่าว
- เมื่อเสร็จสิ้นการใช้ ต้องเก็บรักษาหรือทำลาย เพื่อมิให้บุคคลอื่นนำไปใช้ต่อไป
- ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ปฏิบัติตามกำหนด ให้อธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมายดำเนินการดังนี้
- ให้สั่งยุติการอนุญาตให้ใช้
- ในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทันที
พุทธสุภาษิตประจำมหาวิทยาลัย
อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา มีความหมายว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน
พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย
|
พระพุทธพิงคนคราภิมงคล |
พระพุทธทศพลชินราช |
 |
พระพุทธหริภุญไชยสุภมงคล |
ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย
 |
ดอกทองกวาว |
ข้อมูลอ้างอิง