โดยดำริของรัฐบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ มีนโยบายให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค แต่ได้เกิดสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ขึ้น การดำเนินงานจึงชะงักลง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติในหลักการให้ตั้ง “โรงเรียนแพทย์” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และกระทรวงสาธารณสุขเสนอและให้จัดตั้ง“โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย” ขึ้นพร้อมกัน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และให้โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยเป็นแผนกวิชาด้านการพยาบาลเรียกชื่อว่า “แผนกพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย” เริ่มต้นเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ หลักสูตรอนุปริญญาพยาบาลและอนามัยในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ และหลักสูตรประกาศนียบัตรผดุงครรภ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เมื่อมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ได้รับอนุมัติจัดตั้งและเปิดสอนในระดับอุดมศึกษา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ได้ย้ายมาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แผนกพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย จึงมีฐานะเป็นแผนกวิชาหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้เริ่มเปิดสอนระดับปริญญาตรีในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (พยาบาล) ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้ปรับเปลี่ยนชื่อจากแผนกวิชา เป็นภาควิชาการพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย และคณะกรรมการบริหารสภาการศึกษาแห่งชาติมีมติอนุมัติให้จัดตั้งเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ ในสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ มีการแบ่งการบริหารงาน ประกอบด้วย ๘ ภาควิชา และสำนักงานเลขานุการ
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ปรับเปลี่ยนระบบการบริหารมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๑ และตามประกาศมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ เรื่อง การแบ่งหน่วยงานในส่วนงานวิชาการและส่วนงานอื่น (ฉบับที่ ๑) วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๑ ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในคราวประชุม ครั้งที่ ๑๓/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๑ มีมติเห็นชอบโครงสร้างการแบ่งหน่วยงานของคณะพยาบาลศาสตร์ ประกอบด้วย ๑. สำนักงานคณะพยาบาลศาสตร์ ๒. สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ๓. ศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล และ ๔. ศูนย์บริการพยาบาล
วิสัยทัศน์คณะพยาบาลศาสตร์
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันชั้นนำระดับสากลด้านการศึกษาและการวิจัย
พันธกิจคณะพยาบาลศาสตร์
1) จัดการศึกษาทางการพยาบาลระดับอุดมศึกษา
2) ผลิตผลงานวิจัยด้านสุขภาพที่มีประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน
3) ให้บริการวิชาการแก่ชุมชน
4) ทำนุบำรุงและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
สมรรถนะหลัก
1) การเสริมสร้างศักยภาพจากเครือข่ายระดับนานาชาติ (Enhancing competencies from International Networks)
2) ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) ด้านการบริหารองค์กร การสอนและการวิจัย และการบริการวิชาการ
วัตถุประสงค์
- ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถในระดับสากล เป็นคนดี เก่ง สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
- ผลิตผลงานวิจัยให้มีคุณภาพในระดับสากล สอดคล้องกับปัญหาของสังคมและประเทศชาติ และสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนและการพัฒนาชุมชน
- ให้บริการวิชาการแก่สังคมทุกระดับทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ โดยการผสมผสานกับภารกิจด้านการเรียนการสอนและการวิจัย
- อนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม
- บริหารจัดการโดยใช้หลักธรรมาภิบาล และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- พัฒนาระบบบริหารให้มีความทันสมัย คล่องตัว โดยการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
- พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากร
- จัดหาทรัพยากรและรายได้มาสนับสนุนการดำเนินงานในทุกด้านอย่างเหมาะสม