สำเร็จพร้อมใช้ ต้นแบบอุปกรณ์กักกันเชื้อเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ คณาจารย์นักวิจัยวิศวฯ มช. ส่งต่อ รพ.สวนดอก

30 เมษายน 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทีมวิจัยสาขาวิศวกรรมเครื่องกล นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์วงกต วงศ์อภัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประพันธ์ ศิริพลับพลา รองศาสตราจารย์ ดร.กลยุทธ ปัญญาวุธโธ อาจารย์ ดร.ยุทธนา โมนะ พร้อมด้วยนักวิจัย รวมถึงนักศึกษาพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์กักกันเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ นับเป็นลำดับที่ 3 จาก 5 ภารกิจภายใต้โครงการ “โครงการความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

ต้นแบบอุปกรณ์กักกันเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย นวัตกรรม 3 ชิ้น คือ ต้นแบบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบความดันลบ มุ้งความดันลบสำหรับกักกันเชื้อจากเตียงผู้ป่วย และ ตู้ Swab สำหรับการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อ โดยอุปกรณ์ต้นแบบทั้ง 3 มีกล่องดูดอากาศและฆ่าเชื้อด้วยแสง UVc แล้วกรองด้วย HEPA ก่อนปล่อยสู่อากาศ เพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน ลดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคออกจากผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ แนวทางการออกแบบคำนึงถึงทิศทางการไหลของอากาศ ตลอดจนอัตราการแลกเปลี่ยนอากาศ ให้ถูกต้อง ตามหลักการสากลที่กำหนดโดยสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศ

ต้นแบบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบความดันลบ ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ โดยควบคุมแรงดันอากาศในช่องว่างระหว่างโครงสร้างภายนอกกับเตียงให้เป็นความดันลบ (Negative Pressure) ใช้พัดลมดูดอากาศผ่านเตียง พร้อมกรองอากาศที่มีไวรัสปนเปื้อนผ่านรังสี UV เข้าสู่ระบบ HEPA Filter ก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ราคาต่อหน่วยประมาณ 30,000 บาท

มุ้งความดันลบสำหรับกักกันเชื้อจากเตียงผู้ป่วย ใช้แยกบริเวณผู้ป่วย หรือผู้ที่ต้องถูกเฝ้าระวังสังเกตอาการ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสแพร่กระจายในห้องฉุกเฉิน มีโครงสร้างอลูมิเนียมคลุมภายนอก พร้อมพลาสติกใสคลุมโดยรอบ แรงดันอากาศภายในควบคุมให้เป็นลบก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก โดยออกแบบการดูดอากาศเป็น 15 Air Change ต่อชั่วโมงตามมาตรฐานสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศ ใช้งบประมาณ 50,000 บาท/ หลัง

ตู้ Swab สำหรับการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อ ซึ่งเก็บตัวอย่างเป็น 2 ส่วน คือ 1) ส่วนผู้ป่วย ใช้เก็บตัวอย่างของเหลวจากผู้ป่วย ด้วยระบบ Negative Pressure หรือความดันลบ พร้อมดูดอากาศให้เข้าระบบกรองอากาศด้วยแสง UV เพื่อฆ่าเชื้อผ่านแผ่นกรอง HEPA ดังนั้นอากาศที่ปล่อยออกสู่ภายนอกปราศจากเชื้อไวรัส 2)ส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ ใช้ปฏิบัติงาน กันเชื้อไวรัสมิให้สามารถเข้ามายังส่วนนี้ได้ ด้วยระบบความดันบวก หรือ Positive Pressure ในห้อง ราคาโดยประมาณ 70,000 บาท/ ตู้

นอกเหนือจากนี้ คณะทำงานบางส่วนของภารกิจดังกล่าวยังร่วมทำงานในรูปแบบ "วิศวกรอาสาพหุภาคี” ให้คำแนะนำระบบอากาศ และแนะนำเรื่องการใช้ UVC ของตู้พ่นยาความดันลบสำหรับเด็ก ด้วยหลักการทำงาน เรื่องการระบาย ถ่ายเทอากาศอย่างปลอดภัย คณะที่ปรึกษา ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยศธนา คุณาทร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มช.รหัส 31 (Gear 19) คุณสมศักย์ อัตประชา มช. รหัส 30 สาขาวิศวกรรมเครื่องกล (Gear 18) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.ยุทธนา โมนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล นอกจากนี้ ยังมี คุณวิวรรธน์ พงษ์เรืองเกียรติ ให้คำแนะนำระบบอากาศ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มานะ แซ่ด่าน ให้คำแนะนำเรื่องการใช้ UVC

ทั้งนี้ หากสถานพยาบาล หรือหน่วยงานใดต้องการคำปรึกษา หรือสอบถามเรื่องการสร้างอุปกรณ์กักกันเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ สามารถติดต่อศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (ETE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ โทร. 081-568-9855 E-mail: c.chaichana@eng.cmu.ac.th

ข้อมูลโดย : คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่