ฟังอย่างถูกวิธี ได้ยินดีตลอดชีวิต

8 สิงหาคม 2565

คณะแพทยศาสตร์

หนุ่มสาวนับพันล้านคน เสี่ยงจะสูญเสียการได้ยิน เนื่องจากติดนิสัยฟังเสียงดัง หากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ คาดว่าภายในปี ค.ศ.2050 จะมีผู้ที่สูญเสียการได้ยินเพิ่มขึ้นถึง 900 ล้านคนทั่วโลก ทั้งนี้ผู้ที่หูตึงหรือหูหนวก เป็นผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งเป็นความพิการที่พบบ่อยเป็นอันดับที่สอง รองจากความพิการทางการเคลื่อนไหว เป็นความพิการที่ซ่อนเร้นสังเกตได้ยากแม้แต่ตัวผู้พิการเอง หากไม่ได้พูดคุยกันเราอาจไม่ทราบได้ว่าบุคคลนั้นมีภาวะหูตึงหรือหูหนวก
ส่วนมากสาเหตุของการสูญเสียการได้ยิน เกิดจากการบาดเจ็บต่อหู การติดเชื้อ และการได้ยินเสียงดัง แม้ว่ารัฐบาลจะจ่ายเบี้ยผู้พิการและให้สิทธิในการเบิกจ่ายเครื่องช่วยฟังได้ แต่จะดีกว่ามาก ถ้าเราสามารถดูแลตนเอง รู้วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงที่ทำให้หูตึงหรือหูหนวก
สัญญาณที่เตือนว่า เริ่มมีภาวะการสูญเสียการได้ยิน
• มีเสียงดังรบกวนในหูบ่อยขึ้นหรือเป็นตลอดเวลา
• รู้สึกไม่ค่อยได้ยินเสียงที่มีความถี่สูง เช่น เสียงกริ่งประตูบ้าน เสียงโทรศัพท์ เป็นต้น
• ได้ยินเสียงคำพูดหรือบทสนทนา แต่จับคำไม่ได้ เป็นต้น
หากมีการสูญเสียการได้ยินมากขึ้น จะสังเกตได้ง่ายขึ้น เช่น พูดด้วยแล้วไม่ได้ยิน ถามซ้ำบ่อย ๆ ถามอย่างตอบอย่าง พูดด้วยเสียงปกติแล้วไม่ตอบ เปิดทีวีเสียงดัง ในช่วงที่ผู้คนรอบข้างใส่หน้ากาก ผู้ที่เริ่มมีหูตึงในระดับเล็กน้อยจะมีปัญหาชัดเจนขึ้น เนื่องจากหน้ากากบังเสียง เสียงลดความชัดเจนลง และไม่สามารถเดาคำพูดจากการอ่านปากได้
เราได้ยินได้อย่างไร
หู คือ อวัยวะที่ทำให้เราได้ยิน มี 3 ชั้น ได้แก่ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน เมื่อเกิดเสียงในสิ่งแวดล้อม คลื่นเสียงก็ถูกส่งผ่านเข้าหูชั้นนอก คือ ใบหู ช่องหูและแก้วหู เมื่อแก้วหูจะเกิดการสั่นสะเทือน จะส่งต่อแรงสั่นไปที่กระดูกหู 3 ชิ้นในหูชั้นกลาง คือ กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน และส่งผ่านการสั่นสะเทือนต่อไป อวัยวะรับเสียง ซึ่งเป็นส่วนของหูชั้นใน
อวัยวะรับเสียง ประกอบด้วย กระดูกที่มีรูปร่างคล้ายก้นหอยอยู่ในกระดูกฐานกะโหลก ภายในประกอบด้วยน้ำในหูชั้นในและเซลล์ประสาทรับเสียงซึ่งมีส่วนยอดเป็นเซลล์ขนที่แช่อยู่ในน้ำและส่วนฐานต่อกับเส้นประสาทรับการได้ยิน เมื่อแรงสั่นสะเทือนส่งต่อถึงหูชั้นใน น้ำในหูชั้นในจะทำให้เซลล์ขนบนเซลล์ประสาทรับเสียงเกิดการเคลื่อนไหว เปลี่ยนจากแรงสั่นซึ่งเป็นพลังงานกล ไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่งกระแสประสาทผ่านเส้นประสาทรับการได้ยิน ซึ่งเป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 8 ทำให้สมองรับรู้ว่าได้ยิน
เมื่อสมองรับรู้เสียง จะแปลผลให้เราทราบว่า เสียงที่เราได้ยินคือเสียงอะไร มีความหมายอย่างไร ทั้งนี้สมองต้องเรียนรู้จากประสบการณ์การฟังเดิมก่อน ว่าเคยได้ยินเสียงนั้นหรือเคยเรียนรู้ภาษานั้นหรือไม่
การสูญเสียการได้ยินจากรับเสียงดัง
เสียงดังทำให้หูพัง เมื่อได้ยินเสียงดังถึงขั้นที่เป็นอันตรายต่อหู จะมีอาการเสียงดังรบกวนในหู ปวดหู และสูญเสียการได้ยิน เมื่อหูรับเสียงที่ดังมาก พลังงานเสียงที่ส่งผ่านหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง จะส่งต่อเข้าหูชั้นในและไปกระแทกเซลล์ขน ทำให้เซลล์ขนเกิดแตกหักเสียหาย ไม่สามารถนำเสียงได้ และเมื่อเซลล์ขนนั้นพังลงจะไม่สามารถกลับคืนมาให้ดีเหมือนเดิมได้
ผู้ที่ทำงานในสถานที่มีเสียงดังโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง ฟังเสียงผ่านหูฟัง อยู่ในที่มีเสียงเพลงดังกระหึ่ม เช่น สถานบันเทิงกลางคืน คอนเสิร์ต สถานที่ออกกำลังกายกลุ่มแบบปิด จะอยู่ภาวะเสี่ยงจะสูญเสียการได้ยิน หากปฎิบัติเช่นนี้เป็นประจำ
การสูญเสียการได้ยินจากรับเสียงดัง ไม่สามารถกลับเป็นปกติได้ และรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่ป้องกันได้ ผู้ที่สูญเสียการได้ยินสามารถฟื้นฟูโดยการใส่เครื่องช่วยฟัง
เสียงดังเท่าไรที่เป็นอันตรายต่อหู
ยิ่งฟังเสียงดัง ยิ่งฟังนาน ยิ่งอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดเสียงมากเท่าไร ยิ่งเป็นอันตรายต่อหูมากขึ้นเท่านั้น ระดับความดังของเสียง มีหน่วยวัดเป็น “เดซิเบล”
ตัวอย่างของระดับความดังและระยะเวลาที่จำกัดในการฟังต่อสัปดาห์ ซึ่งหากฟังนานเกินกว่านี้จะเป็นอันตรายต่อหู
ระดับเสียงที่เราได้ยิน ดังเท่าไร
การวัดความดังของระดับเสียงด้วยเครื่องวัดระดับเสียง (sound level meter) จะได้ค่าความดังที่แน่นอน แต่ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นการวัดระดับเสียงในโทรศัพท์มือถือ เช่น NIOSH, Sound Meter สามารถวัดระดับเสียงรอบตัวเราได้ ทำให้เราพอทราบได้คร่าว ๆ ว่าเสียงที่กำลังได้ยินนั้น ดังมากจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อหูหรือไม่
ฟังอย่างปลอดภัย คืออะไร
การฟังอย่างปลอดภัยคือ การปฏิบัติจนมีนิสัยการฟังที่ดี โดยที่ยังสามารถเพลิดเพลินกับการฟังเพลง พร้อมลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหูตึง หูหนวก ซึ่งไม่สามารถหายกลับคืนมาเป็นปกติได้ ดังนั้นการฟังอย่างปลอดภัย จึงช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน
ข้อปฏิบัติในการฟังอย่างปลอดภัย
1. ลดระดับเสียง
โดยตั้งระดับเสียงในอุปกรณ์ให้ไม่เกิน 60% ของระดับเสียงดังสุด ใช้หูฟังให้พอดีกับหูและมีระบบตัดเสียงรบกวน
2. ปกป้องหูจากเสียงดัง
ใส่ที่อุดหูเมื่ออยู่ในที่เสียงดังอึกทึก หรืออยู่ให้ห่างจากแหล่งกำเนิดเสียง เช่น ลำโพง
3. จำกัดเวลาการทำกิจกรรมที่มีเสียงดัง
เมื่ออยู่ในที่เสียงดังอึกทึกให้ปลีกตัวไปพัก ในบริเวณที่เงียบสงบเป็นพักๆ ไม่ใช้อุปกรณ์ฟังเสียงส่วนตัวหรือหูฟังนานเกินไปในแต่ละวัน หากจำเป็นต้องใช้แนะนำให้พักหูจากการใช้อุปกรณ์ฟังเสียงส่วนตัว
4. ตรวจวัดระดับเสียงที่ได้ยิน
ใช้แอปพลิเคชั่นวัดความดังเสียงไว้ช่วยเตือน เลือกอุปกรณ์ที่สามารถตั้งค่าระดับเสียงที่ปลอดภัยในตัวได้ เช่น HearAngel หรือ Apple-Health App เป็นต้น
เมื่อฟังท่านควรหมั่นใส่ใจและลดระดับเสียงที่ฟังให้พอดี เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ฟังเสียงส่วนตัวในขณะที่เรียนออนไลน์หรือทำงาน ให้ใช้อุปกรณ์ที่มีระบบ ANC (Active Noise Cancelling) โดยระบบจะตรวจจับคลื่นเสียงภายนอก จากนั้นจะสร้างคลื่นใหม่ขึ้นมาเรียกว่า “anti-noise” แล้วหักล้างเสียงภายนอกนั้น ก่อนที่เสียงภายนอกจะเข้ามาถึงหู

อุปกรณ์หรือเครื่องช่วยฟังสามารถทำให้หูเสื่อมหรือไม่
เครื่องช่วยฟังเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะช่วยฟื้นฟูผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยิน โดยจะขยายเสียงทำให้ผู้ป่วยที่มีการสูญเสียการได้ยินสามารถรับฟังเสียงดังขึ้นตามกำลังขยายที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับ โดยผ่านการตรวจประเมินเพื่อเลือกเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสม ดังนั้นเครื่องช่วยฟังไม่ได้ทำให้หูเสื่อม แต่การใช้เครื่องช่วยฟังจะทำให้ได้ยินดีขึ้น
การสูญเสียการได้ยินกับภาวะความจำเสื่อม
ผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยิน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดความจำเสื่อม เพิ่มมากขึ้นถึง 1.9 เท่า ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ที่สูญเสียการได้ยินหมั่นใส่เครื่องช่วยฟัง เพื่อกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทการได้ยิน และกระตุ้นการรับรู้ รับฟังเสียงของผู้ป่วย
การตรวจการได้ยินด้วยตนเอง
-สามารถตรวจการได้ยินด้วยตนเองได้ โดยใช้แอปพลิเคชั่น เช่น hearWHO หากคะแนน hearWHO น้อยกว่า 50 แสดงว่ามีการสูญเสียการได้ยิน แนะนำให้รับการตรวจการได้ยินด้วยวิธีมาตรฐาน
-หากตรวจการได้ยินด้วยตนเองแล้วไม่ผ่าน หรือมีการสูญเสียการได้ยิน ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :รศ.พญ.สุวิชา แก้วศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสตประสาท และ คุณฐิตา ฉันทโชติ นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย สาขาแก้ไขการได้ยิน หน่วยโสตวิทยา โสตประสาทวิทยา และการสื่อความหมาย ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#ฟังอย่างถูกวิธี
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่