คลำเจอก้อนที่คอ เสี่ยง! มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

3 พฤศจิกายน 2566

คณะแพทยศาสตร์

อุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถือว่าเป็น 1 ใน 10 ของมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย จากสถิติปี 2020 พบว่าโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จัดอยู่ในอันดับที่ 8 ของโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยเป็นอันดับที่ 5 ในเพศชาย และเป็นอันดับที่ 9 ในเพศหญิง โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปี จะพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ ประมาณ 4,500-5,000 กว่าราย

ระบบน้ำเหลือง
เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ประกอบไปด้วย ต่อมน้ำเหลือง หลอดน้ำเหลือง อวัยวะน้ำเหลือง เช่น ต่อมไทมัส ม้าม และไขกระดูก เกี่ยวข้องกับการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า lymphocytes ทำหน้าที่ต่อสู้ และปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอม

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
เรียกอีกอย่างว่า ลิมโฟมา (Lymphoma) เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวมีการกลายพันธุ์ในระยะต่างๆ นำไปสู่โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ปัจจัยเสี่ยง
ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
– อายุที่มากขึ้น ซึ่งอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น
– เพศชาย พบการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากกว่าเพศหญิง
– การติดเชื้อบางชนิด เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะ การติดเชื้อ EBV (Epstein Barr Virus) ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C virus) ซึ่งการติดเชื้อเหล่านี้จะกระตุ้นการอักเสบ ก่อให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขึ้นมา
– ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อเข้าพบแพทย์ จะมีการตรวจติดตาม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือด หรือตรวจร่างกาย เป็นต้น
– โรคภูมิแพ้ตนเอง ผู้ป่วย SLE พบอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น
– การสัมผัสสารเคมี เช่น สารเคมีปราบศัตรูพืช

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างหลากหลาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบแพทย์ด้วยสาเหตุต่อมน้ำเหลืองโต แต่อาการอื่นๆ ที่พบได้ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ด้วยภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็งต่อมน้ำเหลือง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หายใจไม่อิ่ม ไอเรื้อรัง เป็นต้น

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถเกิดได้บริเวณไหนบ้าง?
สามารถเกิดได้ทุกที่ เพราะต่อมน้ำเหลืองมีอยู่ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นคอ รักแร้ ข้อพับแขน ข้อพับขา ช่องอกหรือช่องท้อง และยังอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ หรือกระเพาะ จึงสามารถเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้หมดทุกที่

ข้อสังเกต
คลำเป็นก้อนมีลักษณะเหมือนยางลบ หยุ่นๆนุ่ม กดไม่เจ็บ ตำแหน่งที่คลำแล้วพบเป็นมากกว่าหนึ่งที่ เช่น คอ รักแร้ ไหปลาร้า ขาหนีบ

ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
– มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin’s lymphoma) หรือ โรคฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease) เป็นมะเร็งชนิดที่เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในระบบน้ำเหลืองของร่างกาย และสามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ
– มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non – Hodgkin’s Lymphoma) ซึ่งสามารถแบ่งชนิดหลักต่อเป็นชนิด B – Cell หรือ T – Cell

ลักษณะการเจริญเติบโตมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
– อัตราการเจริญเติบโตค่อยเป็นค่อยไป ค่อนข้างช้า
– อัตราการเจริญเติบโตรุนแรง การเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งเร็ว

การรักษา
อัตราการรักษาหายหรือไม่ เมื่อเทียบกับมะเร็งอื่นๆ ค่อนข้างดี สามารถรักษาหายได้ ไม่ว่าจะระยะไหนก็ตาม

การตรวจวินิจฉัย
– การซักประวัติ และการตรวจร่างกาย แพทย์จะสัมผัสที่บริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบเพื่อตรวจว่าบวมหรือไม่ และตรวจดูว่าตับหรือม้ามโตหรือไม่
– การตรวจเลือด วิเคราะห์เซลล์ต่างๆ
– การตรวจชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลือง เพื่อวิเคราะห์หาชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
– การเจาะไขกระดูก เป็นการประเมินระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
– การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพ เช่น CT Scan, MRI Scan และPET Scan

การรักษา
– การเฝ้าระวัง เป็นการตรวจติดตาม แพทย์จะตรวจและสอบถามอาการ เหมาะสำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่โตช้า จึงอาจต้องรอจนกว่าจะมีอาการ ระหว่างนั้นควรไปตามนัดแพทย์เป็นระยะ เพื่อเฝ้าติดตามดูอาการ
– เคมีบำบัด เป็นการให้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่เติบโตอย่างรวดเร็วในรูปแบบของยาเม็ด หรือทางหลอดเลือดดำ
– รังสีรักษา เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งด้วยการใช้ลำแสงพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
– การรักษาด้วยยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี: สารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ในการจับกับโปรตีนบนเซลล์ของมะเร็ง หลังจากนั้นจะมีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้มากำจัดเซลล์มะเร็ง
– การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
– การรักษาอื่นๆ เช่น การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด และการรักษาและเซลล์บำบัด

การแบ่งระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 1 : มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลือง หรือนอกต่อมน้ำเหลืองเพียงตำแหน่งเดียว
ระยะที่ 2 : มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลือง หรือนอกต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 2 ตำแหน่ง จะอยู่เหนือหรือบนกะบังลมขึ้นไป
ระยะที่ 3 : มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลือง หรือนอกต่อมน้ำเหลือง เกิดบริเวณส่วนบนและส่วนล่างของกะบังลม
ระยะที่ 4 : ลามยังอวัยวะอื่น เช่น ไขกระดูก ตับ

การดูแลรักษาตนเอง
– รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อาหารสะอาด ทำสุกใหม่
– รับประทานผลไม้ที่มีเปลือกหนา เช่น กล้วย ส้ม โดยต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้ง
– ไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีเปลือกบาง เช่น ฝรั่ง องุ่น หรือผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก เนื่องจากกรณีที่เป็นผลไม้ที่มีเปลือกบางหรือผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก อาจพบว่ามีหนอนเจาะเข้าไปในเนื้อผลไม้ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
– ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
– งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
– ออกกำลังกายเท่าที่ทนได้ ตามสมควร ไม่ควรอยู่แต่ภายในห้องนอน แต่ต้องไม่เสี่ยงต่อการล้มกระแทก หากมีอาการเวียนศีรษะ หรือหน้ามืด
– รักษาความสะอาดร่างกาย ควรอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ฟอกสบู่อ่อนๆ โดยเฉพาะจุดอับชื้น
– ใช้โลชั่นที่ไม่มีน้ำหอมทาผิว
– บ้วนปากหลังอาหาร แปรงฟันเบาๆ ด้วยแปรงที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม
– ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
– หากมีไข้ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาให้ยาปฏิชีวนะได้อย่างเหมาะสม และทันท่วงที

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อ.นพ.ธีรฉัตร พรรณเชษฐ์ อาจารย์ประจำหน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่