อะเฟเซีย (Aphasia) ภาวะเสียการสื่อความ ภาวะโรคทางสมองที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการแพทย์

5 เมษายน 2565

คณะแพทยศาสตร์

จากข่าวดัง “ครอบครัวบรูซ วิลลิส” ได้ออกมาแถลงว่า “บรูซ วิลลิส” กำลังป่วยเป็นโรคอะเฟเซีย (Aphasia) อยู่ ทำให้มีโอกาสสูงมากที่อาจจะต้องอำลาวงการ เมื่อฟังชื่อของโรค หลายท่านอาจจะไม่เคยรู้จัก หรือได้ยินชื่อของโรคนี้มาก่อนเลย ว่าโรคนี้คืออะไร สามารถเกิดขึ้นกับคนรอบข้างหรือไม่ และจะป้องกันได้อย่างไร วันนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ของ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีคำตอบมาฝากกันค่ะ
อ.นพ.กิตติ เทียนขาว อาจารย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลว่า “โรคที่เป็นในข่าวของ “บรูซ วิลลิส” เป็นเรื่องของอะเฟเซีย (Aphasia) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคือความผิดปกติทางระบบประสาทอย่างหนึ่ง ในศัพท์แพทยศาสตร์จะเรียกว่า ภาวะเสียการสื่อความ คือการใช้ภาษาที่ผิดปกติ ซึ่งจะพบได้ในโรคทางระบบประสาทที่มีรอยโรคของสมองในตำแหน่งที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษา
โดยปกติแล้วอาการของอะเฟเซีย (Aphasia) จะแบ่งได้หลายประเภท โดยผู้ป่วยบางรายจะมีอาการพูดไม่ออก คือพูดไม่ได้แต่ฟังรู้เรื่อง บางรายพูดได้ แต่การเข้าใจภาษาผิดปกติไป บางรายพูดได้ ฟังได้ แต่การใช้ภาษาบางอย่าง เช่น การพูดตาม พูดทวนประโยคหรือการเรียกชื่อสิ่งของไม่สามารถทำได้ หรือในรายที่เป็นรุนแรงอาจสูญเสียการสื่อความไปทั้งหมดได้
โดยผู้ป่วยที่มีภาวะอะเฟเซีย (Aphasia) มักจะมีรอยโรคในสมองซีกซ้าย เนื่องจากเป็นสมองซีกที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องภาษา ซึ่งแล้วแต่ว่ารอยโรคดังกล่าวจะมีขนาดเท่าไหร่ โดยตำแหน่งการใช้ภาษาส่วนไหน หากรอยโรคใหญ่มาก โดนสมองบริเวณของภาษาทั้งหมด ก็จะก่อให้เกิดภาวะเสียการสื่อความที่เป็นโดยสมบูรณ์
สำหรับสาเหตุของอาการดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีทั้งชนิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันและโรคหลอดเลือดสมองแตก หากความผิดปกติดังกล่าวไปเกิดในสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องภาษา ก็จะทำให้มีภาวะอะเฟเซีย (Aphasia) ได้ สาเหตุอื่นที่พบได้รองลงไปจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่อายุมากแล้วมีเนื้องอกหรือก้อนในสมอง สำหรับสาเหตุอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุที่ศีรษะ การติดเชื้อ หรือเป็นอาการส่วนหนึ่งของโรคสมองเสื่อมบางชนิด สามารถพบได้แต่เป็นส่วนน้อย ดังนั้นภาวะดังกล่าวจึงมักพบได้บ่อยในผู้ป่วยสูงอายุ แต่หากเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยอายุน้อย (stroke in the young) ก็สามารถพบภาวะอะเฟเซีย (Aphasia) ได้เช่นกัน เพียงแต่จะพบได้น้อยสำหรับกลุ่มผู้ป่วยช่วงอายุนี้”
เมื่อได้ฟังข้อมูลจากอาจารย์หน่วยประสาทวิทยา พอจะสรุปได้ว่า ให้เราสังเกตในเรื่องการพูดคุยและการสื่อสาร เนื่องจากภาวะนี้เป็นการสื่อความทางภาษาที่ผิดปกติ เพราะฉะนั้นสามารถสังเกตได้จากการพูดคุยปกติ หากคนรอบข้าง ญาติหรือเพื่อนร่วมงานมีการพูดคุยที่ผิดปกติ พูดไม่ออก พูดไม่ได้ นึกคำไม่ออก หรือไม่สามารถเปล่งคำออกมาเป็นคำหรือเป็นประโยคได้ หรือพูดได้แต่พูดไปเรื่อย ฟังไม่เข้าใจ ไม่ทำตามคำสั่ง ก็อาจเป็นอาการเตือนของภาวะดังกล่าวได้
ส่วนแนวทางการรักษานั้น อ.นพ.กิตติ กล่าวว่า “จะรักษาตามสาเหตุ หากเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองก็จะให้การรักษาโรคทางหลอดเลือดเป็นหลัก อาทิ หากเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน แพทย์จะให้การรักษาด้วยยา หากเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก ที่มีข้อบ่งชี้ที่ต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์ก็จะทำการผ่าตัด หรือหากมีก้อนเนื้อในสมองที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ก็ต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นแพทย์จะให้การวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุ หลังจากให้การรักษาในระยะเฉียบพลันแล้วผู้ป่วยอาจยังหลงเหลือการสื่อความที่ผิดปกติได้อยู่ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูต่อไป โดยจะปรึกษานักกิจกรรมบำบัดและนักอรรถบำบัดให้ผู้ป่วยฝึกพูด เพื่อแก้ไขปัญหาความบกพร่องทางการสื่อสาร
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวและการพยากรณ์โรคขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย บางรายหากมีอาการไม่มาก อายุน้อย การฟื้นตัวของสมองค่อนข้างดีโอกาสกลับมาหายมีมาก แต่หากพบในผู้ป่วยที่อายุมาก มีความเสื่อมของสมองอยู่เดิม หรือเป็นอะเฟเซียชนิดที่รุนแรง การฟื้นตัวอาจจะไม่สมบูรณ์ หรืออาจต้องใช้เวลานานในการรักษาต่อเนื่อง"
ดังนั้น สรุปได้ง่าย ๆ คือเมื่อเราทราบว่าสาเหตุหลักของภาวะดังกล่าวมาจากโรคหลอดเลือดสมอง การป้องกันที่สำคัญก็คือการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงอาหารรสเค็มจัด ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ในกรณีที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควรพบแพทย์และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมอาการ
ท้ายที่สุดหากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ มีความบกพร่องทางการสื่อสาร พูดไม่ได้แต่ฟังรู้เรื่อง แนะนำให้รีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านสมองโดยเร็วที่สุด เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวจากโรคได้ดียิ่งขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อ.นพ.กิตติ เทียนขาว อาจารย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#Aphasia
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่