กระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

11 กุมภาพันธ์ 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

           วาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต ดำรงตำแหน่งครบกำหนด 4 ปี 2 วาระ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 และสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี เพื่อดำเนินการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้เปิดรับสมัครผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2565 - 2569 ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ถึง วันที่ 5 มกราคม 2565 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 6 - 7 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดีกำหนดให้รายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้มาจาก 2 ทาง คือ 1) การสมัครของผู้ที่มีความสนใจ และ 2) การเสนอชื่อ ซึ่งมีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาอธิการบดี จำนวนมากกว่า 20 คน



การสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีกระบวนการอย่างไร?

           กระบวนการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มจากการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาโดยสภามหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ประธานสภาพนักงาน นายกสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทคณาจารย์ประจำ กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทพนักงานมหาวิทยาลัยที่มิใช่คณาจารย์ประจำ และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งสิ้น 7 คน เรียกว่า “คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” คณะกรรมการสรรหาชุดนี้จะดำเนินการให้มีการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี และรับสมัครบุคคลที่ประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดี เมื่อได้รายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีจากการเสนอชื่อและการรับสมัครแล้ว คณะกรรมการสรรหาจะตรวจสอบและกลั่นกรองรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน มีประวัติและผลงานดีไว้จำนวนไม่น้อยกว่าสามชื่อแล้วดำเนินการทาบทาบ ผู้ที่ตอบรับการทาบทามและผู้สมัครจะต้องนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหา เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีให้เหลือจำนวนสองชื่อ ก่อนจะนำเสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกต่อสภามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการสรรหาเห็นว่าเมื่อได้มีการเสนอวิสัยทัศน์แล้วบุคคลใดมีความโดดเด่นเหนือกว่าผู้อื่นอย่างชัดเจน คณะกรรมการสรรหาอาจเสนอชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยเพียงชื่อเดียวก็ได้ จากนั้นสภามหาวิทยาลัยจะเชิญผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหามานำเสนอวิสัยทัศน์ต่อสภามหาวิทยาลัยอีกครั้ง เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีจำนวนหนึ่งชื่อ และนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
         เมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดีแล้ว สภามหาวิทยาลัยจะดำเนินการแต่งตั้ง “คณะกรรมการประเมินผลการบริหารงานของอธิการบดี” เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารงานและภาวะความเป็นผู้นำของอธิการบดีว่ามีการบริหารงานเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ โดยมีการประเมินผลจำนวน 2 ครั้งในวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี คือ รอบ 1 ปี 6 เดือน และรอบ 3 ปี แล้วรายงานผลการประเมินต่อที่ประชุมสภาฯ พิจารณาทุกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานของอธิการบดีเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่สภาฯ ได้กำหนดไว้ให้มากที่สุด

เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถนำผลการหยั่งเสียงโดยประชาคม มช. มาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

         การหยั่งเสียง คือ รูปแบบการลงคะแนนเพื่อหาความนิยม ซึ่งมิได้เป็นเป้าประสงค์หลักของการสรรหาอธิการบดีที่มุ่งคัดหาผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ ผลจากความแตกแยกภายในองค์กรหลังจากการโจมตีระหว่างกันในกระบวนการหาเสียงเพื่อเรียกความนิยมในอดีตนั้น ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสรรหาอธิการบดีโดยไม่นำการหยั่งเสียงมาเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ได้ระบุถึงร่างพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยว่าด้วยการได้มาซึ่งอธิการบดีว่า “ต้องเป็นกระบวนการที่โปร่งใส ไม่ใช้การเลือกตั้ง แต่ให้ใช้วิธีการสรรหาตามข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัย” ประกอบกับมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมได้หารือและกำหนดว่า "ในการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หากมีการหยั่งเสียงเกิดขึ้น มิให้ใช้ความถี่จากการหยั่งเสียงเป็นเกณฑ์ชี้ขาดในการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา"  และล่าสุด ศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามกฎที่มีผู้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 ข้อ 5 วรรคสาม ที่มีสาระสำคัญว่า “ในการเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีทุกขั้นตอนให้ใช้วิธีปรึกษาหารือ และมิให้ดำเนินการโดยวิธีเลือกตั้งหรือหยั่งเสียง หากปรากฏหลักฐานว่าผู้สมัคร หรือ ผู้ถูกเสนอชื่อรายใดยอมรับวิธีการดังกล่าว ให้คณะกรรมการตัดชื่อออกจากกระบวนการสรรหา และถ้ามีผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยสนับสนุนก็ให้ถือว่ามีความผิดทางวินัย” เนื่องจากการที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามข้อบังคับดังกล่าว จะส่งผลให้กระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ ต้องล่าช้าออกไป และจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ ตามมาตรา 66 วรรคสอง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ 2542 และข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

         อย่างไรก็ตาม การแก้ไขข้อบังคับสามารถทำได้ แต่จำเป็นต้องกระทำก่อนหน้าที่จะเริ่มต้นกระบวนการสรรหา ในเวลานี้กระบวนการสรรหาได้เริ่มต้นไปเรียบร้อยแล้ว หากกระบวนการสรรหาอธิการบดีล่าช้าออกไป ภารกิจเชิงพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะหยุดชะงัก แม้จะมีผู้รักษาการแทนอธิการบดี แต่ผู้รักษาการแทนจะไม่สามารถผลักดันงานเชิงนโยบาย ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและการบริหารงานของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดภาวะวิกฤติดังเช่นในกรณีการระบาดของโรคโควิด-19 มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีผู้นำที่มีอำนาจในการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์อย่างทันท่วงที


นักศึกษาจะสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาครั้งนี้ได้อย่างไรบ้าง

         นักศึกษาสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ได้แก่ สภาพนักงานมหาวิทยาลัย โดยสามารถระบุได้ว่าต้องการอธิการบดีที่มีคุณสมบัติอย่างไร และต้องการให้อธิการบดีท่านต่อไปพัฒนา/ปรับปรุงเรื่องใดบ้าง ความเห็นดังกล่าวจะถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาและสภาฯ ทำให้ประชาคมมีส่วนร่วมในการพัฒนามหาวิทยาลัยร่วมกันต่อไป
นอกจากนักศึกษาแล้ว อาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัยก็สามารถมีส่วนร่วมผ่านการแสดงความคิดเห็นต่อประธานสภาพนักงาน ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพนักงาน อาจารย์ และบุคลากร ทั้งในกระบวนการสรรหาและในการหยิบยกประเด็นต่าง ๆ ไปพิจารณาต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย


    
แกลลอรี่