คณะพยาบาล มช. ผนึกกำลังแกนนำสำคัญขับเคลื่อนไทยก้าวสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวด้านกีฬาและสปาของโลก

24 มิถุนายน 2563

คณะพยาบาลศาสตร์


จากการที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก เพราะแนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกำลังได้รับความสนใจอย่างมากและมีทิศทางเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ประเทศไทยมีปัจจัยหลักที่ได้รับการยอมรับ ได้แก่ ราคาเหมาะสม บริการมีคุณภาพ มาตรฐานสากล บุคลากรเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีทันสมัย อัธยาศัยไมตรีดี และมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม สามารถดึงดูดรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างดีเยี่ยม
  
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการภาระกิจการจัดทำแผนงบประมาณ สกสว. และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานแผนงาน Spearhead กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สกสว. จากสำนักงานเปิดเผยว่าโครงการวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านกีฬาและสปาที่เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยบริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์ภายใต้แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ กลุ่มการบริการมูลค่าสูง (การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) ในปีงบประมาณ 2562 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำแผนงานการบริหารจัดการการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. วิภาดา คุณาวิกติกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยการบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ ผนึกกำลังกับคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ร่วมดำเนินการในครั้งนี้ภายใต้การดูแลกำกับ และให้คำปรึกษาจากคณะกรรมการบริหารแผนงานและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาแนวทางการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเชิงกีฬา วิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน กำหนดแนวทางการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาศักยภาพสูงกลุ่มกอล์ฟ การท่องเที่ยวเชิงกีฬาวิ่ง จักรยาน และศิลปะมวยไทย ที่สอดคล้องกับการความต้องการของนักท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการให้บริการสปาในพื้นที่ภาคใต้ รูปแบบการให้บริการสปาล้านนาที่มีมาตรฐานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยสร้างนวัตกรรมที่หลากหลายจากการดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อขับเคลื่อนให้การท่องเทียวเชิงสุขภาพของประเทศสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ประกอบด้วย 5 โครงการภายใต้แผนงานได้แก่ โครงการที่ 1 การพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในกลุ่มกิจกรรม มวยไทย ปั่นจักรยาน และวิ่ง สู่การท่องเที่ยวดิจิทัลของประเทศไทย หัวหน้าโครงการ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัจจา ไกรศรรัตน์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จากผลการดำเนินงานได้คู่มือการจัดกิจกรรมมวยไทย การจัดกิจกรรมการปั่นจักรยาน การจัดงานวิ่งเพื่อการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในประเทศไทย (e-book) เป็นต้น โครงการที่ 2 การจัดการโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟเพื่อยกระดับสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟระดับโลก หัวหน้าโครงการ คือ ดร.รัชพงษ์ กลิ่นศรีสุข จากมหาวิทยาลัยมหิดล มีผลการดำเนินงานได้รูปแบบการไหลของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟ ต้นแบบการบริหารจัดการสนามกอล์ฟไทย เป็นต้น โครงการที่ 3 การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้สู่การเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพในระดับสากล หัวหน้าโครงการ คือ ดร.พุทธพร อักษรไพโรจน์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มีผลการดำเนินงานได้มาตรฐานของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ สปาสีเขียว คลังข้อมูลและระบบบริหารสารสนเทศผลิตภัณฑ์และบริการสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น โครงการที่ 4 การพัฒนาสปาล้านนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหัวหน้าโครงการคือ ศาสตราจารย์ ดร. อารีวรรณ กลั่นกลิ่น จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผลการดำเนินงานได้มาตรฐานการบริการธุรกิจและเกณฑ์การรับรองความเป็นสปาล้านนา ท่านวดล้านนา การนวดในคนท้องและเด็กทารก เพลงล้านนาประกอบการให้บริการและผลิตภัณฑ์จากพืชล้านนา เป็นต้น และโครงการที่ 5 การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวส่งเสริมสุขภาพในระดับสากลด้วยนวัตกรรมบริการบนรากฐานมรดกวัฒนธรรมและจิตบริการแบบไทย หัวหน้าโครงการ คือ ดร.เกษวดี พุทธภูมิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จากผลการดำเนินงานได้ Wellness Tourism Digital Platform ฐานข้อมูลธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านสปาและกีฬารวมทั้งหลักสูตรฝึกอบรมด้านนวัตกรรม เป็นต้น

จากแผนงานวิจัยดังกล่าวผ่านโครงการต่างๆ ทั้งหมดได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อีกทั้งมีการติดตาม ประเมินโครงการวิจัยและให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ตลอดระยะเวลาจากนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธานกรรมการบริหารแผนงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ในฐานะคณะกรรมการบริหารแผนงานและเป็นหน่วยบริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ รองศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ประธานผู้ทรงคุณวุฒิและคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน นายกสมาคมกีฬาและสปา ชมรมและผู้ประกอบการ โดยมีระเบียบวิธีการวิจัยที่ประกอบด้วยทั้ง การวิจัยเชิงทดลอง การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลของการวิจัยผ่านกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ บูรณาการ ผลลัพธ์ ผลกระทบ ผลประโยชน์ที่ได้รับ และการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ ด้านสาธารณะ ด้านวิชาการ ผลผลิตจากทุกโครงการของแผนงานสอดคล้องกับประเด็นการวิจัย นำไปสู่การใช้ประโยชน์ ได้มาซึ่งชุดความรู้ใหม่ด้านกีฬาและสปา สามารถใช้ต่อยอดองค์ความรู้และจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปาเพื่อขับเคลื่อนผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยให้เกิดเป็นมูลค่าในด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ผลการวิจัยสามารถใช้ได้ทั้งองค์กรของภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เกิดรายได้เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว อีกทั้งเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ อีกด้วย

นอกจากนั้นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปาด้วยนวัตกรรมสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพนั้น มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้นักท่องเที่ยวต่างตัดสินใจชะลอการเดินทาง โดยมีการคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาฟื้นตัวบ้าง ซึ่งนับเป็นโอกาสของประเทศไทยเพราะระบบทางสาธารณสุขมีประสิทธิภาพสูง สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ชุมชน และสังคม สามารถพัฒนาขีดความสามารถที่มีอยู่ได้ต่อเนื่อง พร้อมที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพให้กลับมายังประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ แผนงานการบริหารจัดการการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ จะนำไปสู่การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสามารถเพิ่มมูลค่าของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปาได้ ก่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปาด้วยนวัตกรรมตลอดจนการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

แกลลอรี่