เข้าวัสสา

8 กรกฎาคม 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

      “เข้าวัสสา” คำว่า “วัสสา” สะกดตามภาษาบาลี ตรงกับภาษาไทยภาคกลางว่า “เข้าพรรษา” หมายถึงการที่พระสงฆ์อยู่ประจำที่ใดที่หนึ่งในช่วงฤดูฝน เมื่อถึงฤดูฝนแล้วพระสงฆ์ต้องหยุดเดินทางไปในที่ต่าง ๆ และพักอาศัยอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด ๓ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ เหนือ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเกี๋ยงซึ่งตรงกับ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของไทยภาคกลาง

       การเข้าวัสสา หรือเข้าพรรษา หากกล่าวในเชิงประเพณีแล้ว ชาวล้านนามีวัตรปฏิบัติและกิจกรรมหลายอย่างที่แตกต่างจากชาวไทยภาคอื่น ๆ ซึ่งมิได้หมายเอาเฉพาะกิจของสงฆ์เท่านั้น หากแต่ชาวบ้านเองก็มีกิจอันเป็นส่วนของคฤหัสถ์เช่นกัน

     ในส่วนของวันเข้าวัสสา พระสงฆ์จะเริ่มเข้าวัสสาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ เหนือ ส่วนชาวบ้านจะถือเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เหนือ ซึ่งตรงกับวัน “อาสาฬหบูชา” เป็นวันเริ่มต้นและไปสิ้นสุดเอาวันเดียวกัน คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเกี๋ยง

      กิจกรรมหลักของพระสงฆ์นั้น เป็นไปตามพระวินัยที่เคยปฏิบัติมา แต่กิจกรรมของชาวบ้านจะตั้งใจปฏิบัติกันเป็นกรณีพิเศษ เริ่มตั้งแต่วันแรก คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เหนือ วันนี้ถือเป็นวัน “เข้าวัสสา” ชาวบ้านจะไปทำบุญแต่เช้าตรู่ เริ่มด้วยการ “ตานขันเข้า” คือ “ทานขันข้าว” หมายถึง การทำบุญให้ทานแด่พระสงฆ์ด้วยอาหารเป็นสำรับ ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งหวังอุทิศส่วนกุศลข้ามภพข้ามภูมิไปหาเจ้าที่เจ้าทาง พระแม่นางธรณี หรือเทพยดา อันรักษาบ้านเรือน ตลอดจน “ผีต๋ายเก่าเน่าเมิน” คือดวงวิญญาณของญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว อันมีบิดามารดา เป็นต้น

       เฉพาะอาหารที่จะจัดเป็นสำรับ จะมีการจัดเตรียมเป็นพิเศษ กล่าวคือ อาหารนั้นจะไม่เป็นอาหารที่บริโภคประจำวันตามปกติ แต่จะเป็นอาหารพิเศษ และประณีต เช่น แกงฮังเล ห่อหนึ้ง (ห่อหมก) ขนมจ็อก (ขนมเทียน) ข้าวต้มมัด ผลไม้ในฤดูกาล เดรียมทุกอย่างใส่ภาชนะ แล้วจัดวางในสำรับที่มีสวยดอก(กรวยดอกไม้ธูปเทียน) น้ำหยาด (น้ำสำหรับกรวดอุทิศ) น้ำดื่มและเทียนพร้อมจุดอีก ๒ เล่ม 

       ด้านพิธีกรรมทานขันข้าว ชาวบ้านจะจุดเทียนในสำรับและยกประเคนพระ โดยบอกชื่อเจ้าภาพและวัตถุประสงค์ จากนั้นพระจะให้พรพร้อมกรวดน้ำเป็นภาษาล้านนาโวหารผสานด้วยบทบาลี ซึ่งท่านจะระบุชื่อเจ้าภาพและวัตถุประสงค์ของการทำบุญไว้ครบถ้วน จากนั้นจึงไปใส่บาตรร่วมกันในวิหารรอพระสงฆ์ลงไปอนุโมทนาทานในตอนสาย

       เสร็จจากทำบุญที่วัด จะมีการ “ตานขันเข้าคนเถ้า” โดยนำสำรับอาหารไปมอบแด่ผู้เฒ่าผู้แก่ตามละแวกบ้าน นัยยะว่าเป็นกตเวทิตาธรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ผู้เฒ่ารับทานนั้นแล้วก็ให้พรเป็นสิริมงคล จนบ่ายคล้อยจะพากันไปฟังพระธรรมเทศนาที่วัด แล้วช่วยจัดสถานที่สำหรับเป็นที่นอนให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่จะอยู่บำเพ็ญศีลภาวนา และค้างคืนที่วัดต่อไป


       กล่าวถึงกิจกรรมของคฤหัสถ์ในช่วงเข้าพรรษานั้น ดูจะเคร่งครัดทั้งการให้ทาน การรักษาศีลและบำเพ็ญภาวนา ซึ่งการให้ทานนิยมทำบุญตักบาตรทุกเช้าของวันธรรมสวนะ การรักษาศีลชาวบ้านทั่วไปจะรักษาศีลห้า ผู้เฒ่าชรานิยมถือศีลแปด ส่วนการบำเพ็ญภาวนาจะมีการทำวัตรสวดมนต์ ทำสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชราส่วนใหญ่นิยมไปนอนค้างคืนที่วัดในวันธรรมสวนะเพื่อบำเพ็ญธรรม นอกจากนี้ยังมีการฟังพระธรรมเทศนาทุกวันพระช่วงกลางวันตลอดพรรษาด้วย
บุญเข้าวัสสาเป็นผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ของชาวล้านนา ตลอดระยะเวลาแห่งไตรมาสอันสำคัญนี้ จะไม่มีการประพฤตินอกลู่นอกทางแห่งคลองศีลคลองธรรม ไม่มีงานเลี้ยงฉลอง ไม่มีการแต่งงาน ไม่มีการดื่มสุรา อุปกรณ์การทำมาหากินที่เป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์ถูกเก็บเข้าที่ หิ้งผีครูถูก “ปลงขัน” คือเชิญวิญญาณครูอาจารย์ที่ตนนับถือลงจากหิ้งที่สถิต แล้วยกพานเครื่องสักการะลงมา ด้วยหวังว่าผีครู ผีปู่ย่าจะวางภาระและบำเพ็ญศีลภาวนาเช่นกัน

        วันเข้าวัสสาเป็นวันเข้าสู่มรรคญาณตามคติของพระพุทธศาสนา ชาวล้านนาจึงอยู่เย็นเป็นสุข สังคมไร้ทุกข์ เพราะอาศัยโอกาสเวลานี้บ่มเพาะภูมิคุ้มกันอกุศลกรรมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนั่นเอง

สนั่น ธรรมธิ

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


แกลลอรี่