มะเร็งปากมดลูก รู้เร็ว รักษาได้

5 กันยายน 2565

คณะแพทยศาสตร์

ในแต่ละปีจะพบผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกจำนวนไม่น้อย เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองเนื่องจาก เกิดความเขินอาย หรือไม่สะดวกที่จะเข้ารับการตรวจ และยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าในปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถลดอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากลูกได้
จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูก ประมาณ 6,000-7,000 ราย ต่อปี และในแต่ละวันพบผู้หญิงที่เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากเข้ารับการรักษาช้าถึง 10 ราย และช่วงอายุของการเสียชีวิต อยู่ในวัยระหว่าง 40-50 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงอายุที่เป็นกำลังสำคัญในการดูแลครอบครัว เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ผู้หญิงทุกคน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งในความเป็นจริง ปัจจุบันมีวิธีป้องหลายอย่าง และมีประสิทธิภาพเป็นอย่างดี
ข้อมูลสถิติโรคมะเร็งจากเว็บไซด์ (Globocan) ปี ค.ศ 2020) พบว่ามะเร็งที่เกิดกับผู้หญิงทั่วโลก อันดับสูงสุด ได้แก่ มะเร็งเต้านม อันดับที่ 2 มะเร็งลำไส้ใหญ่ อันดับที่ 3 มะเร็งปอด และอันดับที่ 4 มะเร็งปากมดลูก โดยมี อุบัติการณ์ อยู่ที่ 13.3 ต่อประชากร 1 แสนคน
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลการเกิดมะเร็งปากมดลูก ในปี ค.ศ 2020 จะอยู่ที่ประมาณ 4.8 เปอร์เซ็นต์ ของมะเร็งทั้งหมด โดยพบประมาณ 9,000 กว่ารายต่อปี อัตราการเสียชีวิตมะเร็งปากมดลูก ประมาณ 7.3 เปอร์เซ็นต์ ต่อประชากร 1 แสนคน นับว่าเกินกว่าครี่งของคนที่เป็นมะเร็งปากมดลูก ในขณะที่การเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม จะพบเพียง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด จึงพอสรุปได้ว่า มะเร็งปากมดลูก แม้ว่าจะพบได้ไม่บ่อย เท่ามะเร็งเต้านม แต่เมื่อผู้ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก อัตราการเสียชีวิตจะสูงกว่ามะเร็งเต้านมมาก
สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก
พบว่า สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก 99.7 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (Human Papillomavirus HPV ) ชนิดความเสี่ยงสูงแบบไม่ยอมหายขาด
ชนิดของ HPV แบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้
-ชนิดความเสี่ยงต่ำ (ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก) ได้แก่ชนิด 6,11,42,43,44 (พบได้บ่อยในชนิดที่ 6,11)ทำให้เกิดโรคได้ในลักษณะ หูดต่างๆที่เกิดบริเวณปากมดลูก เช่น หูดหงอนไก่ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนึ่ง
-ชนิดความเสี่ยงสูง(ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก) ได้แก่ชนิด 16,18,31,33,34,35,39,45,51,52,56,58 เมื่อติดเชื้อแล้วถ้าไม่ยอมหายไป จะทำให้เกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแล้ว ซึ่งในวัคซีนที่ป้องกันมะเร็งปากมดลูกปัจจุบันจะครอบคลุมเชื้อ HPV ชนิด 16และ11 ด้วย ดังนั้นหากได้รับการฉีดวัคซีน จะสามารถป้องกันจากการเป็นโรคหูดต่างๆ ที่เกิดบริเวณปากมดลูก และอวัยวะสืบพันธุ์สตรีอื่นๆ ได้อีกด้วย
เชื้อ HPV ทำให้เกิด มะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร
การมีเพศสัมพันธ์ มักจะเกิดรอยถลอก บริเวณปากมดลูก ทำให้เชื้อ HPV ที่จะอยู่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งผู้ชายและผู้หญิง จะเข้าในบริเวณรอยถลอกนั้นๆ และแทรกซึมไปยังบริเวณเซลล์ปากมดลูกชั้นล่างๆ ซึ่งตัวเชื้อ HPV ชนิดความเสี่ยงสูงจะเข้าไปผสมผสานกับ DNA ของเซลล์ปากมดลูก ทำให้เกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติ และตัวเชื้อ HPV เองจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอีกด้วย ทำให้กระจายอยู่บริเวณปากมดลูก เมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งต่อไป ฝ่ายชายจะติดและแพร่เชื้ออีกได้ ในส่วนเซลล์ที่แบ่งตัวผิดปกติ เมื่อเวลาผ่านไปจะทวีความรุนแรงมากขึ้น มีการแบ่งตัวมากขึ้น จนทะลุเข้าไปในตัวของเนื้อปากมดลูกเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก และกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงได้
ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก ได้แก่
-การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
-การมีเพศสัมพันธ์กับหลายคน
-การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (เปลี่ยนไต)
-การติดเชื้อ ไวรัสเอดส์
-การสูบบุหรี่ (หากเลิกได้ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูกลงถึง 2 เท่า)
อาการแสดง
-ในระยะแรกจะไม่มีอาการ
-มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
-มีเลือดออกผิดปกติ
-มีตกขาวผิดปกติ
-ขาบวม ปวดเอว ปวดร้าวลงขา
-ไตวาย
-ปัสสาวะ อุจจาระ รั่วมาที่ช่องคลอด
การวินิจฉัย
-ใช้การตัดชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูกเพื่อพิสูจน์ชนิดของมะเร็ง กรณีที่ตรวจภายในแล้วพบรอยโรคที่สงสัย หรือหากไม่พบรอยโรค แต่มีผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ แพทย์จะตรวจด้วยกล้องคอลโปสโคป (colposcopy) ซึ่งเป็นกล้องส่องขยายบริเวณปากมดลูก ทำให้เห็นรอยโรคชัดเจนขึ้น เพิ่มความแม่นยำในการตัดชิ้นเนื้อในตำแหน่งที่ในตำแหน่งที่ผิดปกติได้มากขึ้น
- หากมีอาการของโรคมาก จะต้องอาศัยการตรวจพิเศษ เพื่อสำรวจการกระจายของโรค เช่น การตรวจ CT-scan ,MRI ,PET-CT
กระบวนการรักษา
หลังจากมีการวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อกำหนดระยะของโรค และเข้าสู่กระบวนการรักษาตามระยะโรคนั้นๆ ระยะของมะเร็งปากมดลูก มีดังนี้-ระยะเริ่มแรก รอยโรคยังไม่กระจาย อยู่บริเวณปากมดลูกเพียงอย่างเดียว แพทย์จะทำการผ่าตัดมดลูก และปากมดลูกออกแบบธรรมดา คือไม่นำเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านข้างออก (ผลการรักษาดีมาก ผลข้างเคียงของการรักษาน้อยมาก)
-ระยะที่ 1 เพิ่มการกระจายของรอยโรค แต่จะยังอยู่บริเวณปากมดลูก มักเห็นรอยโรคด้วยตาเปล่า โดยทั่วไปจะดูขนาดของรอยโรคว่าเกิน 2 เซนติเมตรหรือไม่ แพทย์จะทำการผ่าตัดแบบกว้าง โดยจะตัดปากมดลูก ตัดมดลูก และตัดเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างๆออก โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน (ผลการรักษาดีมาก ถ้ายังไม่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง สามารถอยู่ได้ 10 ปีสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์) หลังจากผ่าตัด หากพบมะเร็งจะกระจายที่ต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะต้องให้รักษาด้วยการฉายรังสี ร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น
-ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 (ไม่สามารถผ่าตัดได้) ตัวโรคจะกระจายไปที่ช่องคลอดแล้ว ลามไปยังเนื้อเยื่อข้างๆกดเบียดหลอดไต ทำให้ไตบวม ระยะนี้ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ฉายรังสีร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด
-ระยะที่ 4 ตัวโรคจะกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆได้ ไปทางหลอดน้ำเหลือง หลอดเลือด ตับ และปอดการรักษาในระยะแพร่กระจายมากๆ หรือผู้ป่วยเคยได้รับการรักษาและกลับเป็นซ้ำ แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัด ปัจจุบันจะใช้ยาพุ่งเป้าร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งการผ่าตัดจะไม่มีบทบาท
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
-แปปสเมียร์ Pap smear (cytology) การป้ายเซลล์จากปากมดลูก บนแผ่นกระจกสไลด์ เพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ
-HPV test คือการตรวจหาเชื้อไวรัสสายพันธุ์เสี่ยงสูงต่อมะเร็ง ซึ่งให้ผลตรวจ ที่ละเอียดมากขึ้น (ประสิทธิภาพดีมาก)
-VIA (Visual inspection with acetic acid) เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยวิธีการตรวจภายใน โดยน้ำส้มสายชู เพื่อทำปฏิกิริยากับบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีความผิดปกติของเซลล์
แนวทางการตรวจภายในของราชวิทยาลัยสูติฯ(ปี ค.ศ2021)
-เริ่มตรวจเมื่ออายุ 25 ปี หากมีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่หากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เริ่มตรวจเมื่ออายุ 30 ปี
-หากตรวจ แปปสเมียร์ (Pap smear) ให้ตรวจห่างทุก 2 ปี หากตรวจ HPV test หรือตรวจ Co-test (ตรวจทั้ง HPV test และ ตรวจดูเซลล์) ให้ห่างทุก 5 ปี ถ้าผลปกติ
-สามารถสิ้นสุดการตรวจ เมื่ออายุ 65 ปี ถ้าตรวจสม่ำเสมอมาตลอด 10 ปี แล้วปกติมาตลอด
*ในกรณีที่ตัดมดลูกไปแล้วและผลชิ้นเนื้อส่วนปากมดลูกปกติ ไม่ต้องตรวจต่อ
มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้โดย HPV vaccine ช่วยลดมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ
1. HPV vaccine แบบ 4 สายพันธุ์ ป้องกันชนิด 6 และ ชนิด 11 เป็นชนิดที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ /ชนิด 16 และชนิด 18 เป็นชนิดที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นหากรับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ก่อนมีเพศสัมพันธ์จะดีเป็นอย่างมาก
2. HPV vaccine แบบ 9 สายพันธุ์ ป้องกันเพิ่มขึ้นอีก คือชนิดความเสี่ยงสูง นอกจากชนิด 6,11,16,18 ยังเพิ่มอีก 5 สายพันธุ์ ที่เป็นชนิดความเสี่ยงสูงเช่นกันคือ 31,33,45,52,58 ทำให้เพิ่มความสามารถในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกสูงได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ข้อแนะนำในการฉีด HPV vaccine
แนะนำให้ฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ซึ่งเมื่อฉีดครบ 3 เข็ม ไม่ต้องฉีดซ้ำ เพราะภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน
-เด็กหญิงและเด็กชาย อายุ 9-15 ปี ฉีด 2 เข็ม (เข็มแรกและเข็มที่ 2 เว้นระยะฉีด 6 เดือน หรือ 12 เดือน ) สำหรับเด็กผู้ชายจะช่วยป้องกันโรคหูดหงอนไก่ และในวันข้างหน้าหากเป็นกลุ่มชายรักชาย จะลดการเกิดมะเร็งที่เกิดจากเชื้อ HPV เช่นมะเร็งทวารหนักได้ด้วย
-อายุ 16-45 ปี ฉีด 3 เข็ม (โดยฉีดเข็มแรก และเข็มที่ 2 เว้นระยะฉีด 2 เดือน และเข็มที่ 3 เว้นระยะฉีด 6 เดือน)
อย่างไรก็ตามการฉีด HPV vaccine ไม่ได้ป้องกันการเกิดมะเร็งมดลูกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้เราจะฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นแนะนำให้เข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกเมื่อถึงเวลา และนอกจากวัคซีนจะช่วยลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกแล้ว ยังมีวิธีอื่นที่ช่วยป้องกันได้เช่นกันคือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย การมีเพศสัมพันธ์กับหลายคน การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (เปลี่ยนไต) การติดเชื้อ HIV เป็นต้น รวมทั้งตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกตามที่กำหนด เป็นต้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก:รศ.พญ.ประภาพร สู่ประเสริฐ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. และอาจารย์ประจำหน่วยมะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.


เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#มะเร็งปากมดลูก
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่