นักวิจัยคณะวิทย์ มช. นำทีมพัฒนานวัตกรรมแผ่นแปะแผลเส้นใยนาโนฯ เพิ่มสารสกัดมะม่วง ลดการติดเชื้อ

7 ธันวาคม 2566

คณะวิทยาศาสตร์

       นักวิจัยศูนย์วิจัยฟิสิกส์และลำอนุภาค คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำทีมพัฒนานวัตกรรมแผ่นแปะแผลเส้นใยนาโน ด้วยเทคนิคอิเล็กโตรสปันที่มีไคโตซาน/พอลิไวนิลแอลกอฮอล์เป็นฐาน โดยมีการปรับปรุงสารละลายพอลิเมอร์ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตเส้นใยด้วยเทคนิคอิเล็กโตรสปัน และมีการเพิ่มสารสกัดมะม่วงที่มีฤทธิ์ลดอาการการติดเชื้อ และลดอาการอักเสบของบาดแผล ก่อนการขึ้นรูปเป็นแผ่นแปะแผลเส้นใยนาโน ภายใต้ หัวข้อวิจัย เรื่อง Argon Plasma Jet-Treated Poly (Vinyl Alcohol)/Chitosan and PEG 400 Plus Mangifera indica Leaf Extract for Electrospun Nanofiber Membranes: In Vitro Study

จากผลการศึกษา พบว่า การบำบัดด้วยพลาสมาในสารละลายโพลิเมอร์ ก่อนการสร้างเส้นใยด้วยเทคนิคอิเล็กโตรสปินนิง ทำให้ความหนืดของสารละลายโพลิเมอร์, ค่าการนำไฟฟ้า และเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นใยนาโนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การเติมสารสกัดมะม่วงเข้ากับสารละลายพอลิเมอร์ที่มีไคโตซาน/พอลิไวนิลแอลกอฮอล์เป็นฐาน ยังทำให้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นใยลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับแผ่นเยื่ออิเล็กโทรสปันที่ไม่มีสารสกัดมะม่วง

อีกทั้งแผ่นแปะแผลเส้นใยนาโน อิเล็กโทรสปินที่มีไคโตซาน/พอลิไวนิลแอลกอฮอล์เป็นฐาน ซึ่งมีสารสกัดมะม่วง ยังช่วยยับยั้งเชื้อ Escherichia coli และ Staphylococcus aureus ได้ และช่วยส่งเสริมให้แผลหายเร็วขึ้นอีกด้วย

งานวิจัยนี้ สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นวัสดุแผ่นปิดแผลที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีปัญหา หรือมีประวัติการแพ้ยากลุ่มยาปฏิชีวนะที่มีขายตามท้องตลาด และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ชื่นชอบในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ

ผลงานได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Polymers
Published : 2 June 2023
https://doi.org/10.3390/polym15112559

ทีมวิจัย
นักวิจัยศูนย์วิจัยฟิสิกส์และลำอนุภาค คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ศ.ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณ, นางสาวปองพรรณ สุคำ, นายพิพัฒน์ ปรมาพิจิตรวัฒน์ ร่วมกับ รศ.ดร.วินิตา บุณโยดม ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.ดลพร ดาราณรงค์ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นางสาวธันย์ณภัทร์ เจนวรพจน์ ห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับทางการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,รศ.ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, รศ.ดร.สมศักดิ์ แดงติ๊บ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และ ดร.จักรพงศ์ ขึ้นแสน วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



แกลลอรี่