ระวัง! ฤดูฝน หอบหืด กำเริบ เสี่ยงเสียชีวิตเฉียบพลัน

24 กรกฎาคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

เมื่อก้าวเข้าสู่ฤดูฝน ผู้ป่วยโรคหอบหืดมักมีอาการกำเริบ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนมากขึ้น ถึงแม้ว่าสถิติจะไม่เป็นตัวเลขที่ชัดเจน แต่ควรเฝ้าระวังสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภาวะของโรคที่จะทำให้เกิดอาการหอบหืดเฉียบพลันได้
โรคหอบหืดคือ โรคที่มีการอักเสบของทางเดินหายใจเรื้อรัง เป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้หลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากเกินไป ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้ จะทำให้ผนังหลอดลมหนาตัวขึ้น มีการสร้างเยื่อเมือกเข้ามาในหลอดลมมากขึ้น ทำให้ช่องว่างภายในหลอดลมแคบลง ดังนั้นกล่าวโดยสรุปคือ หลอดลมของผู้ป่วยโรคหืดจะมีลักษณะตีบกว่าคนปกติ และมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นที่มากเกินไป ซึ่งสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ได้แก่ ฝุ่น มลพิษต่างๆ การติดเชื้อทางเดินหายใจ ฤดูฝนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความชื้น ฤดูหนาว ที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ?


สาเหตุของโรคหอบหืด
โดยทั่วไปนั้นโรคหอบหืดเกิดขึ้นได้โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่เกิดขึ้นได้จากองค์ประกอบหลายอย่าง โดยแบ่งเป็นปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ดังนี้
-ปัจจัยภายใน เกิดจากพันธุกรรม เมื่อผู้ป่วยมีประวัติเรื่องพันธุกรรมพ่อแม่ ญาติสายตรง จะทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงของการเกิดหอบหืดได้
-ปัจจัยจากภายนอก ที่เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดหอบหืดได้ ได้แก่มลพิษ การติดเชื้อโดยเฉพาะในวัยเด็ก ได้แก่การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ไรฝุ่น ขนสัตว์ เชื้อรา บุหรี่ อากาศ ฤดูกาล อาหาร


อาการที่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นหอบหืด
-หายใจเหนื่อย
-แน่นอก หายใจไม่เต็มอิ่ม
-หายใจเสียงหวีด
-ไอแห้ง


โดยอาการเหล่านี้ เป็นอาการหลักของโรคหอบหืด โดยอาการจะครบหรือไม่ครบก็ได้ ส่วนใหญ่มักมีอาการแสดง 2 อาการขึ้นไป ที่สอดคล้องเข้ากับอาการหอบหืดได้


ซึ่งอาการดังต่อไปนี้มักจะ
1.เป็นในช่วงกลางคืนที่มีอากาศเย็น หรือตอนรุ่งเช้า
2.จะสวิงไปตามช่วงเวลาของแต่ละวัน เช่น มักจะมีอาการช่วงเวลากลางคืนและตอนเช้า ช่วงสาย อาการมักจะดีขึ้น ไม่แสดงอาการตลอดทั้งวัน
3.มีตัวกระตุ้น เช่น อาการจะแย่ลง หรือเกิดขึ้นทันที เมื่อพบฝุ่น หรือช่วงฤดูฝน
อาการแบบไหนที่บ่งบอกถึงความรุนแรง


หายใจเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด หายใจแน่นจนรู้สึกว่าหายใจเข้าไม่ได้ ตามปกติผู้ป่วยหอบหืด หากคุมอาการได้ดี จะสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ โดยไม่มีอาการใดเลย แต่จะมีอาการได้อย่างฉับพลันเมื่อมีตัวกระตุ้น โดยระดับความรุนแรงของอาการอาจจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระดับการอักเสบของทางเดินหายใจในขณะนั้น
เมื่อไหร่ก็ตามที่หลอดลมตีบมาก ทำให้หายใจไม่ออก ไม่สามารถรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้ จนนำไปสู่การเกิดระบบหายใจล้มเหลว จะทำให้หมดสติและเสียชีวิตในที่สุดได้


ดังนั้นจึงควรรีบนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน หากสงสัยภาวะหืดกำเริบเฉียบพลัน
ปัจจุบันโรคหอบหืดแบ่งเป็น 3 ระดับ ขึ้นกับระดับยาที่ใช้ควบคุมอาการ ได้แก่
1.ระดับรุนแรงน้อย ผู้ป่วยจะคุมอาการได้ดี โดยจะใช้แค่ยาขนาดต่ำ ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดสามารถใช้
ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนทั่วไป โดยแทบจะไม่มีอาการ บางรายเป็นนักกีฬา สามารถแข่งขันได้
2.ระดับรุนแรงปานกลาง ใช้ยาในระดับที่สูงขึ้น แต่ผู้ป่วยยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ออกกำลังกายได้
3.ระดับรุนแรงมาก ต้องใช้ยาขนาดสูง มักยังมีอาการอยู่และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด


ถึงแม้ว่าอาการจะรุนแรงน้อย แต่อย่าชะล่าใจ เพราะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อยมีโอกาสกำเริบแบบรุนแรง จนกระทั่งเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินและใส่เครื่องท่อหายใจได้ในที่สุด หากใช้ยาไม่สม่ำเสมอ


ในปัจจุบันโรคหอบหืดยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาในปัจจุบันนี้มุ่งเน้นที่การควบคุมการอักเสบของทางเดินหายใจจนทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ จึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดยาเอง
ก่อนที่จะทำการรักษาจะต้องยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดจริง โดยดูจากอาการที่เข้าได้ ดังข้างต้น
และทำการตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธีสไปโรเมตรีย์ (Spirometry) จะพบการอุดกลั้นของทางเดินหายใจ จึงวินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบหืด


หลังจากที่มีการยืนยันว่าเป็นโรคหอบหืด แพทย์จะเริ่มต้นรักษา โดยใช้ยาสูดพ่นเข้าทางปาก โดยยาจะออกฤทธิ์บริเวณปอดเป็นหลัก ดังนั้นยาพ่นที่ใช้ในการรักษาค่อนข้างปลอดภัย


การรักษาโรคหอบหืด
1. ยาที่ใช้รักษามี 2 ชนิด ได้แก่
1.1 ยาควบคุมอาการ โดยจะออกฤทธิ์เพื่อลดการอักเสบของทางเดินหายใจ ซึ่งต้องใช้เป็นประจำทุกวัน ห้ามขาดยาหรือหยุดยาเอง แม้จะไม่มีอาการแล้วก็ตาม
1.2 ยาพ่นฉุกเฉิน เป็นยากลุ่มขยายหลอดลมใช้เมื่อมีอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน
2. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ฝุ่น รา มลพิษ
3. รักษาโรคร่วม เช่น ภูมิแพ้ ไซนัส กรดไหลย้อน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: อ.พญ.ณัฐชนก นิยติวัฒน์ชาญชัย อาจารย์หน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ
เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่