“หมึน” ลมพิษผื่นแดงนูนคัน โรคของผู้ป่วยภูมิแพ้

22 สิงหาคม 2565

คณะแพทยศาสตร์

โรคลมพิษ ภาษาพื้นเมืองทางเหนือเรียกว่า “หมึน” ทางภาคอีสานเรียกว่า “มุ่นม่าน”สาเหตุเกิดจากการที่เม็ดเลือดขาวในร่างกาย หลั่งสารที่ทำให้เส้นเลือดขยายตัว เมื่อเส้นเลือดขยายตัวจะเกิดเป็นผื่นแดง และนูน บริเวณที่เป็นผื่นจะหายภายใน 24 ชั่วโมง หากผื่นไม่หาย อาจจะมีโรคอื่นคล้ายโรคลมพิษ หรือผู้ป่วยมีอาการบวมมาก ตรงบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนๆ เช่นริมฝีปาก หรือเปลือกตา บวมมากจนตาปิด อาการบวมเหล่านี้อาจจะอยู่นานกว่าผื่นแดงของลมพิษ
เมื่อผื่นไม่หายภายใน 24 ชั่วโมง อาจจะเกิดจากเส้นเลือดอักเสบที่มีอาการคล้ายกับลมพิษได้
สาเหตุของเส้นเลือดอักเสบ
-การติดเชื้อ
-การเป็นมะเร็ง
- SLE หรือ แพ้ภูมิตัวเอง
หากเป็นโรคจำพวกนี้ก็จะมีผลกับสุขภาพ เพราะฉะนั้นต้องสังเกตุว่าใช่หรือไม่ใช่ลมพิษ หากไม่ใช่ลมพิษ ต้องหาสาเหตุต่อไป
ประเภทของลมพิษ
-ลมพิษเฉียบพลัน หากเป็นๆหายๆ แต่ไม่ถึง 6 สัปดาห์ 90 เปอร์เซนต์จะหาย ได้ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง
-ลมพิษเรื้อรัง จะมีอาการเกิน 6 อาทิตย์ และมีอาการอยู่นาน ส่วนใหญ่มีอาการ 3-5 ปี
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถทำให้ลมพิษหายขาดได้ หากผู้ป่วยมีอาการ จะหายเอง แต่มียาหลายชนิด เป็นยารุ่นใหม่มีประสิทธิภาพดี ปลอดภัยสูง ที่ควบคุมอาการของผื่นผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นโรคลมพิษอยู่
สาเหตุของโรคลมพิษ เกิดจากอะไร
สาเหตุของลมพิษเฉียบพลันส่วนใหญ่จะเป็นโรคติดเชื้อ ทางเดินหายใจ ไวรัส เป็นหวัด แม้กระทั่งโควิด-19 ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดลมพิษได้ การแพ้ยา หรืออาหารแปลกๆ ที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน แมลงสัตว์กัดต่อย ก็อาจจะเป็นสาเหตุได้
สาเหตุลมพิษเรื้อรัง จะแตกต่าง ไปจากลมพิษเฉียบพลัน
การสัมผัสอยู่กับสิ่งกระตุ้นนานๆ และมีอาการเป็นระยะเวลาเกิน 6 สัปดาห์ เป็นสาเหตุของลมพิษเรื้อรัง โดยแบ่งเป็นหลายประเภท อาทิ ลมพิษที่เกิดจากการขูดขีดเบาๆบริเวณผิวหนัง แล้วเกิดอาการนูนตามรอยที่ถูกขูดขีด บางรายเกิดขึ้นตามแนวสะพายกระเป๋า หรือขอบเสื้อชั้นในรัด บางรายเมื่อโดนอากาศเย็น จะเกิดอาการลมพิษ โดยผิวลำตัวที่สัมผัสอากาศเย็นจะเป็นผื่นลมพิษนูนบวม หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยที่ออกกำลังกาย หรืออบซาวน์น่า หรือการทำกิจกรรมที่ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น หรือร่างกายโดนแสงแดดก็จะมีผื่นขึ้น
ลมพิษที่ควรระวัง
-บางรายเป็นลมพิษร่วมกับอาการแพ้ที่รุนแรง คือมีอาการร่วมจากอวัยวะอื่นๆที่สำคัญเช่น หัวใจ หลอดเลือด ทำให้ความดันตกและช็อคได้ เนื่องจากมีอาการแพ้ที่รุนแรง หากมีอาการปากบวม ตาบวม มีอาการเวียนหัว จะเป็นลม ความดันต่ำ ต้องรีบพบแพทย์
-อาการแพ้รุนแรงจะกระทบต่อทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจบวม หายใจไม่ได้ หรือทำให้หลอดลมตีบ หายใจลำบาก ควรรีบพบแพทย์
-ทางเดินอาหาร บางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียรุนแรง หากมีอาการต่างๆเหล่านี้ควรระวัง ให้รีบพบแพทย์
กรณีอื่นๆ ที่ควรพบแพทย์ เช่น ลมพิษที่ไม่ใช่ลมพิษปกติ คือผื่นที่เป็นในแต่ละผื่นนั้นจะไม่หายภายใน 24 ชั่วโมง กรณีนี้ต้องระวังเพราะจะเป็นจุดนำสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ลมพิษ เช่น เส้นเลือดอักเสบ ลมพิษ มีไข้ ปวดข้อตามตัวร่วมด้วย หากไม่ใช่แพ้รุนแรง หรือไม่ใช่ลมพิษที่มีสาเหตุที่อันตราย ผู้ป่วยเป็นลมพิษจะเข้าพบแพทย์ต่อเมื่อรบกวนชีวิตประจำวันมาก เช่น คัน มึนงง เป็นต้น
กระบวนการรักษา
-ลมพิษเฉียบพลัน จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยลมพิษเฉียบพลัน จะหายภายใน 6 อาทิตย์
-ลมพิษเรื้อรัง การรักษา แพทย์จะหาสาเหตุ ปัจจัยการกระตุ้น และให้ผู้ป่วยเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดลมพิษ
หากไม่พบสาเหตุ แพทย์จะทำการรักษาด้วยยารับประทานแก้แพ้ทั่วไป ที่มีประสิทธิภาพดีในระดับหนึ่ง มีความปลอดภัย ทานยาวนานได้ แต่จะมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ถึงแม้จะทานยาแก้แพ้ขนาดสูงไปแล้ว ก็ยังรักษาไม่หาย แพทย์จะให้ยากดภูมิให้ต่ำลง แต่ต้องระวังผลข้างเคียงของยาที่จะกระทบต่อไต และตับได้
มียาอีกกลุ่มคือ ยาชนิดพุ่งเป้า เมื่อทราบว่าสารตัวนี้ทำให้เส้นเลือดขยาย แพทย์จะนำยาไปรักษาสาเหตุของอาการได้ตรงประเด็น ประสิทธิภาพจะดีและปลอดภัย ยาดังกล่าวเป็นกลุ่มยาฉีด ราคาสูง แต่ต้องระวังผลข้างเคียง หากฉีดในระยะยาว อาจทำให้กระทบต่อความดัน เบาหวาน กระดูกพรุน ต้อกระจก จึงใช้ในกรณีที่จำเป็น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก:รศ.นพ.มติ เชื้อมโนชาญ อาจารย์หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#ลมพิษผื่นแดง
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU
แกลลอรี่