ทีมนักวิจัยคณะวิทย์ ม.เชียงใหม่ และ ม.พะเยา พบราก่อโรคผลเน่าใหม่ในแตงโม รายงานครั้งแรกในประเทศไทยและของโลก

18 มีนาคม 2567

คณะวิทยาศาสตร์

            ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ ม.พะเยา พบราก่อโรคผลเน่าใหม่ในแตงโม รายงานครั้งแรกในประเทศไทยและของโลก สร้างองค์ความรู้สู่การวินิจฉัย การระบาดวิทยาโรคพืช การพยากรณ์โรค และการหาแนวทางควบคุมและป้องกัน

ทีมนักวิจัย นำโดย ดร.นครินทร์ สุวรรณราช ดร.จตุรงค์ คำหล้า ดร.สุรพงค์ คุณา และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สายสมร ลำยอง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายของจุลินทรีย์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิพรพรรณ์ เนื่องเม็ก คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยในโครงการสำรวจราโรคพืชในพืชตรกูลแตง ซึ่งรวมถึงแตงโมที่ปลูกและการเก็บรักษาแตงโมหลังการเก็บเกี่ยว ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

 

นักวิจัยได้ทำการสำรวจเก็บตัวอย่างโรคที่เกิดจากรา จากนั้นแยกราสาเหตุโรค และทดสอบการก่อเกิดโรคด้วยสมมติฐานของค็อค (Koch's postulates) ของราที่แยกได้ และระบุชนิดของราสาเหตุโรคด้วยหลักอนุกรมวิธานสมัยใหม่ ร่วมกับเทคนิคอณูชีววิทยาด้วยดีเอ็นเอ โดยวิเคราะห์ความสัมพันธุ์ของราชนิด Fusarium แบบหลายลำดับยีนส์ (Multigene analysis) ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจะเป็นประโยชน์ต่อการระบาดวิทยาโรคพืช การพยากรณ์โรค โรครวมถึงการหาแนวทางควบคุมและป้องกันราก่อโรคอย่างถูกต้องแม่นยำ

การศึกษาวิจัยได้ใช้องค์ความรู้ กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ การสังเกต และการวิเคราะห์อย่างมีหลักการของศาสตร์อนุกรมวิธานในสาขาราวิทยา สาขาโรคพืชวิทยา และเทคนิคอณูชีววิทยาร่วมกัน โดยการแยกสปอร์ราแบบเดี่ยว (Single spore isolation) อาการของโรค การทดสอบการก่อเกิดโรคของราด้วยสมมติฐานของค็อค (Koch's postulates) การบ่งบอกชนิดของราก่อโรคด้วยหลักอนุกรมวิธานสมัยใหม่ ด้วยศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของราและระบุชนิดด้วยเทคนิคอณูชีววิทยาแบบหลายลำดับยีนส์ (Multigene analysis) โดยไม่ใช้ตำแหน่งดีเอ็นเอบาร์โคด internal transcribed spacer (ITS) ในการระบุชนิดราก่อโรค แต่งานวิจัยนี้ได้ใช้ตำแหน่งยีน translation elongation factor 1-alpha ตำแหน่ง calmodulin (cam) และ RNA polymerase second largest subunit (rpb2) ในการระบุชนิดราก่อโรคด้วยแผนภูมิวิวัฒนาการ

ทีมวิจัยสามารถแยกราจากผลแตงโมที่เกิดโรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด 10 ไอโซเลท โดยมีเพียง 4 ไอโซเลท ที่ก่อให้เกิดโรคผลเน่าในแตงโม จากการตรวจสอบด้วยสมมติฐานของค็อค ซึ่งแสดงอาการคล้ายคลึงกับอาการโรคที่พบครั้งแรก จากการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาและข้อมูลดีเอ็นเอ รวมถึงการวิเคราะห์ด้วยแผนภูมิวิวัฒนาการพบว่าเป็นราก่อโรคในสกุล Fusarium บ่งบอกชนิดเป็น Fusarium compactum และ F. paranaense จากการศึกษา ทีมวิจัยพบว่าราทั้ง 2 ชนิด ที่พบเป็นราก่อโรคผลเน่าใหม่ของแตงโม ผลงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ได้รายงานราก่อโรคผลเน่าใหม่ในแตงโมในประเทศไทย และเพื่อใช้อ้างอิงโรคผลเน่าแตงโมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้ทราบชนิดของราสาเหตุโรคผลเน่าในแตงโมหลังการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องแม่นยำ ตามหลักวิทยาศาสตร์ และหลักอนุกรววิธานของราวิทยาที่ทันสมัย มีภาพลักษณะสัณฐานวิทยาของราก่อโรคประกอบ เพื่อใช้เปรียบเทียบชนิดราก่อโรคผลเน่าในแตงโมอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การระบาดวิทยาโรคพืช การพยากรณ์โรค เพื่อวิเคราะห์การเกิดโรคในแตงโมได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ รวมถึงเป็นประโยชน์ด้านฐานข้อมูลของประเทศ อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาการเลือกยีนเพื่อระบุชนิดด้วยเทคนิคอณูชีววิทยาแบบหลายลำดับยีนด้วย tef1-alpha, cam และ rpb2 และสอดรับนโยบายเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายของจุลินทรีย์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลงานได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Plants
Published: 20 February 2023
https://doi.org/10.3390/plants12040956
แกลลอรี่