รพ.สวนดอก kickoff ฉีดวัคซีนโควิด-19 ภาคประชาชนวันแรก ณ หอประชุม มช. ผู้รับบริการ 710 คน ภาพรวมระบบการบริหารจัดการ คล่องตัว

9 มิถุนายน 2564

คณะแพทยศาสตร์

รพ.สวนดอก kickoff ฉีดวัคซีนโควิด-19 ภาคประชาชนวันแรก ณ หอประชุม มช. ผู้รับบริการ 710 คน ภาพรวมระบบการบริหารจัดการ คล่องตัว


โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ kickoff ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ภาคประชาชนวันแรก 7 มิถุนายน 2564 เวลา 08.00 - 13.00 น. ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านแอปหมอพร้อม และเลือกฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จำนวน 710 คน


ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “เป็นไปตามแผนของรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนไว้ โดยวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นวัน kickoff ฉีดวัคซีนภาคประชาชนพร้อมกันทั่วประเทศ ในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีหน่วยงานคือโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงก็ร่วม kickoff พร้อมกันทั่วประเทศเช่นเดียวกัน โดยทั้งนี้เป็นไปตามจำนวนที่ได้ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้า วัคซีนในวันนี้ได้มาถึงตามกำหนดเวลา และคาดว่าน่าจะฉีดภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะเป็นการสร้างภูมิต้านทานหมู่ให้เกิดขึ้นในกลุ่มประชาชนซึ่งวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าที่เราใช้อยู่ในประเทศไทยผลข้างเคียงน้อยมาก ขอให้ประชาชนทุกท่านอย่าได้วิตกกังวล”


ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า “คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ในการฉีดวัคซีน covid-19 ให้กับประชาชน ตั้งแต่วันนี้( 7 มิถุนายน 2564 ) เป็นต้นไป ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างเวลา 08.00-13.00 น. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในห้องประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการบริการฉีดวัคซีน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นสุดการฉีดวัคซีน โดยเราได้เรียนรู้การบริหารจัดการการฉีดวัคซีนดีขึ้นอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดการบริการอย่างเต็มรูปแบบ ขอให้ประชาชนทุกท่านมั่นใจในการบริหารการฉีดวัคซีนกับรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช.”


ในส่วน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “วันนี้เป็นวันแรกในส่วนของภาคประชาชนที่ได้เดินทางมาฉีดวัคซีน เราขยายพื้นที่บริการมาที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสามารถรองรับประชาชนผู้มารับวัคซีนได้จำนวนมาก เราได้ระดมทีมบุคลากรอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 220 คน มาให้บริการในการฉีดวัคซีน ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าผ่านหมอพร้อมวันนี้ จำนวน 710 คน แบ่งผู้ที่เข้ารับบริการเป็น 2 กลุ่ม ตามที่รัฐบาลกำหนด โดยผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนที่มี อายุ 60 ปี ขึ้นไปจะได้รับวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จำนวน 425 คน และอายุต่ำกว่า 60 ปี จะได้รับวัคซีนของบริษัทซิโนแวค (Sinovac) จำนวน 285 คน ผู้รับบริการไม่ต้องกังวล ไม่ว่าจะเป็นAstraZeneca หรือ Sinovac การศึกษาพบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019ได้ ลดความรุนแรง ลดอัตราการเข้าICU ได้เช่นกัน


โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้จัดเตรียมจุดให้บริการ 6 จุด ได้แก่
1.จุดลงทะเบียน (ในส่วนนี้ขอให้ผู้รับบริการเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วย) 2.จุดวัดความดันโลหิต
3.จุดคัดกรองความเสี่ยง
4.จุดรอฉีดวัคซีน
5.จุดฉีดวัคซีน
6.จุดพักสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีน 30 นาที และมีแพทย์ พยาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิดในจุดปฐมพยาบาล หากมีอาการข้างเคียงใดๆที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้เราได้ใช้ระบบแทร็คกิ้ง ทุกจุดจะมีการสแกน QR Code ของทุกท่าน


ระบบนี้จะทำให้เราทราบว่าแต่ละจุดมีจำนวนคนมากน้อยเท่าไหร่ และตัวเลขที่ถูกวิเคราะห์นี้จะแสดงบนจอแดชบอร์ดอัพเดพอย่างต่อเนื่องภายในโถงห้องประชุม จุดไหนที่มีประชาชนคั่งค้างจำนวนมาก จะเสริมกำลังได้อย่างทันที นอกจากนี้ยังมีจุด one stop service สวนดอกแคร์รูม สำหรับท่านที่อายุมาก เดินไม่สะดวก นั่งล้อ นอนเปล เราได้รวมจุดการให้บริการทั้ง 6 จุดนี้ไว้ในที่เดียว เพื่อความสะดวกสบายและรวดเร็วในการให้บริการฉีดวัคซีนในครั้งนี้”


ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลังฉีดวัคซีน 24 ชั่วโมง ร่างกายอาจจะมีปฏิกิริยากับวัคซีนที่ได้รับ ขอให้งดเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพื่อจะได้สังเกตอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ และหากเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่ปกติสามารถโทรศัพท์มาปรึกษาได้ตามเบอร์ที่ปรากฏในใบนัด หรือมาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้ทันที”

แกลลอรี่