ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ด้วยศาสตร์แพทย์แผนไทย

7 กรกฎาคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนกระทั่งปัจจุบัน เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคมากขึ้น ดังนั้นครอบครัวและสังคม จึงหันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุนั้น จะต้องเป็นการดูแลครบทุกด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ จิตวิญญาณ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ด้วยศาสตร์แพทย์แผนไทย จึงเป็นอีกศาสตร์ที่น่าสนใจในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
โดยศาสตร์ทางแพทย์แผนไทยนั้น จะแบ่งอายุช่วงวัยเป็น 3 ช่วง เรียกว่า อายุสมุฏฐาน เพื่อแบ่งอายุป่วยจากโรค โดยแบ่งออกเป็น 3 วัย คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย

นิยามของผู้สูงอายุ ทางการแพทย์แผนไทย
1. ปฐมวัย (วัยเด็ก)
: แรกเกิด -16 ปี
: สมุฏฐานอาโป ธาตุน้ำ
2. มัชฌิมวัย (วัยกลางคน)
: อายุ 16 - 32 ปี
: สมุฏฐานอาโป (พิกัดโลหิต) ธาตุน้ำ
3. ปัจฉิมวัย (บั้นปลายชีวิต)
: อายุ 32 ปี - อายุขัย
: สมุฏฐานวาโย ธาตุลม
ช่วงที่ 1
: อายุ 32 - 64 ปี
ช่วงที่ 2
: อายุตั้งแต่ 64 ปี ขึ้นไป

การเปลี่ยนแปลงในผู้สูงอายุ มีทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ
การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- วิงเวียนศีรษะ
- นอนไม่หลับ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก
- เบื่ออาหาร
- เคลื่อนไหวช้าลง
- ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกลดลง
- หลงลืมง่าย
การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย - อ่อนไหวง่าย ตัวอย่าง การแก้ไขอาการเหล่านี้ เช่น -อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ทำได้โดย

วิเคราะห์อาการ : มีการคั่ง/อั้น เฉพาะที่ทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก บางรายจะรู้สึกปวดตึงแน่น หายใจไม่เต็มอิ่ม

การรักษาจะมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ
1. นวดประคบสมุนไพร จะช่วยคลายกล้ามเนื้อ จากที่ทำงานเป็นเวลานาน สมุนไพรจะช่วยกระจายให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น สบายขึ้น
2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้มีการเคลื่อนไหว ด้วยการยืดเหยียดร่างกาย หรือทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ออกกำลังกายเบาในสภาพที่ร่างกายรับไหวได้
3. ใช้ยาสมุนไพรรักษากลุ่มกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น
3.1 ยาแคปซูลเถาวัลย์เปียง โดยหลักของยาจะช่วยคลายกล้ามเนื้อ สามารถรับประทานได้ทันที หลังรับประทานอาหาร 3 มื้อ สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ที่มีเภสัชกรคอยให้คำปรึกษา หรือปรึกษา และพบแพทย์แผนไทยได้ แพทย์จะเช็กอาการและโรคประจำตัวว่าสามารถรับประทานได้หรือไม่
3.2 ยาใช้ภายนอก บางรายไม่ต้องการรับประทานยา อาจจะใช้น้ำมัน ครีม ไพร เจลพริก น้ำมันว่าน สามารถทาบริเวณที่มีอาการปวดได้ จะทำให้ผ่อนคลาย สบายตัวขึ้น


- อาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย มึนงง ไม่สดชื่น
วิเคราะห์อาการ : ทั้งนี้เกิดจากธาตุลมที่ผิดปกติ คั่ง-อั้น ไม่สามารถขับเคลื่อนระบบไหลเวียนโลหิตให้ขึ้นไปยังบริเวณด้านบนได้ปกติ
หลักการรักษา : ใช้ยาสมุนไพรรักษากลุ่มไหลเวียนโลหิต ได้แก่ ยาหอมอ่อนๆ ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมเทพจิต ยาหอมเนาวโกฐ ยาหอมอินทจักร ยาหอมแก้วิงเวียน

มูลเหตุการเกิดโรคทางการแพทย์แผนไทย 8 ประการ
- อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
- การอดอาหาร อดน้ำ อดน้ำ อดนอน
- ความร้อน และความเย็น
- อิริยาบถ
- การทำงานเกินกำลัง
- การกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ
- ความเศร้าโศกเสียใจ
- ความโกรธ


หลักของการดูแลสุขภาพ โดยใช้หลักการดูแลร่างกายแบบธรรมานามัย
การดูแลร่างกายแบบธรรมานามัย คือ การดูแลสร้างเสริมสุขภาพตามหลักการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Care) เป็นการดูแลองค์รวมทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม ประกอบไปด้วยหลัก 3 ประการ ได้แก่
1. กายานามัย (Healthy body) คือ การส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สามารถทำท่าฤๅษีดัดตน หรือนวดประคบกระตุ้นการไหลเวียนได้
2. จิตตานามัย (Healthy mind) คือ การส่งเสริมสุขภาพทางใจ ให้มีพื้นฐานใจที่มั่นคง นั่งสมาธิ สัมผัสธรรมชาติ เข้าวัด ทำบุญ
3. ชีวิตานามัย (Healthy behavior) คือ การมีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันที่ดี การดูแลสภาพแวดล้อมบ้านเรือนให้เรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตัดสินใจดูแลสุขภาพผู้สูงวัยด้วยแพทย์แผนไทยนั้น ควรทำการตรวจสุขภาพโดยแพทย์แผนปัจจุบันก่อน ว่ามีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาอะไรหรือไม่ เนื่องจากยาบางตัว อาจส่งผลต่อการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันได้เช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : พทป.สุทธดา บุตรแก้ว แพทย์แผนไทยประยุกต์ ประจำศูนย์การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ผสมผสาน ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่