“มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” มุ่งเป็นศูนย์กลางอาเซียนตอนเหนือ เชื่อมจีน-ลาว-เมียนมา – ปรับตัวสู่ Life-Long Education เรียนรู้ทุกวัย

11 กุมภาพันธ์ 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า


    ท่ามกลางกระแสการปรับตัวของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เริ่มเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ภายหลังจากมีการปิดตัวหลักสูตรและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยในศูนย์กลางประเทศอย่างกรุงเทพมหานครทั้งของรัฐและเอกชน อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจคือสำหรับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่มีการกระจุกตัวของประชากรและโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ น้อยกว่าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร จะมีมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบและรูปแบบการศึกษาอย่างไร รวมไปถึงความเหมือนความต่างของสิ่งที่จะต้องปรับตัวรับมือหรือไม่ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงแนวทางและการพัฒนาการศึกษาในมุมมองของมหาวิทยาลัยที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของภูมิภาคเหนือของประเทศ

มองแนวโน้มคนแก่เพิ่มปีละล้าน เด็กเกิดลดลง กระทบมหาวิทยาลัย

       ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ เริ่มต้นเล่าว่า สำหรับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคก็ไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด คือจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อเหตุการณ์ ทั้งนี้ หากดูข้อมูลปัจจัยหลักประการแรกที่เป็นแรงผลักดัน ตอนนี้ผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่คนเกิดมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ปัจจุบัน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ผู้สูงอายุไทยมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 16.7% ของประชาชนทั้งประเทศ คิดเป็นประชากร 11.31 ล้านคน ในจำนวนนี้อีก 4-5 ปีข้างหน้า ประมาณปี 2565 จะกลายเป็น 20% และปี 2574 ตัวเลขนี้จะกลายเป็น 28-30% ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุไทยตอนนั้นน่าจะมีร่วมๆ 20 ล้านคน

     แล้วประชากรไทยในตอนนี้ประมาณ 65 ล้านคน มีแนวโน้มจะคงที่และลดลง เนื่องจากคนเกิดลดลง เด็กที่เกิดตอนนี้เฉลี่ยแล้วน่าจะประมาณ 800,000 คนต่อปี ตัวเลขลดลงเรื่อยๆ เหลือ 700,000 คนแล้ว แต่คนสูงอายุมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วหากย้อนกลับไปช่วงที่สำคัญคือช่วงปี 2506-2526 เขาเรียกว่ายุคเกิดเกินล้าน คือเกิดเกินล้านคนต่อปี ดังนั้นอีก 5 ปีข้างหน้าคือปี 2565 อายุคนกลุ่มนี้ก็จะครบ 60 ปี แปลว่าหลังจากช่วงนี้ตัวเลขจะมาอย่างรวดเร็วเลย พอถึงตอนนั้นคนสูงอายุจะเพิ่มขึ้นปีละล้านปีละล้าน อายุมันจะถมขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้ช่วง 15-20 ปีข้างหน้าตัวเลขผู้สูงอายุไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

     แล้วสิ่งที่ตามมาผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ถ้าเราแบ่งช่วงอายุออกมาจะเป็นช่วง 60-70 ปีจะมีสัก 60% ของผู้สูงอายุ ที่เหลือจะเป็นช่วง 80-90 ปีขึ้นไป จะเห็นว่าคนช่วงอายุ 60-70 ปีจะมีจำนวนประชากรค่อนข้างสูง ดังนั้นจะมีบทบาทสำคัญ ด้านหนึ่งคือเรื่องการทำงาน เราบอกเรากำลังขาดแคลนแรงงาน ประเทศขาดแคลนแรงงาน อีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องของการเรียนรู้ เราบอกว่าเด็กเกิดมีน้อยลง เมื่อน้อยลงตัวเลขมันจะทับถมมาเรื่อยๆ พอถึงเวลาเข้ามหาวิทยาลัยขึ้นมา ความจริงตัวเลขมันลดลงมานานแล้ว จากเกิดปีละล้านคนมาเหลือปีละ 700,000 คน ทำให้มีปัญหาในเรื่องการจัดการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยจะมีบทบาทตรงส่วนนี้

     “ถามว่าในแง่ว่าคนน้อยลงแล้วมหาวิทยาลัยจะมีผลกระทบหรือไม่ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศอยู่ พวกมหาวิทยาลัยที่ใหญ่อันดับต้นๆ นักศึกษาจะไม่ค่อนกระทบมาก ที่กระทบคือแย่งกันรับเด็กเก่ง ใครๆ ก็อยากได้เด็กเก่งๆ เข้ามา ที่กระทบคือน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนหรือใหญ่รองๆ ไปที่กระทบแล้ว เอกชนเริ่มปิดไปหลายแห่ง บางมหาวิทยาลัยกำลังจะเปลี่ยนเจ้าของ เพราะนักศึกษาลดลง อาจจะยังมาไม่ถึงมหาวิทยาลัยใหญ่ เราก็ต้องเตรียมตัว ต้องเร่งปฏิรูประบบการเรียนรู้ การรับนักศึกษา”


เน้นปรับตัวสู่ Life-Long Education – เรียนรู้ทุกวัย

     ประการที่ 2 คือเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา ที่บอกว่าการปั่นป่วนมันเป็นทั้งเทคโนโลยี ทั้งการศึกษา เพราะทำให้คนสามารถแสวงหาความรู้ได้จากแหล่งต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะจากอินเทอร์เน็ต และมีแนวโน้มว่าการศึกษาของมหาวิทยาลัยในรูปแบบเดิมอาจจะมีความสำคัญลดลง แต่มันจะเป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่เกิดขึ้น ที่เขาเรียกว่า life-long education ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบด้วยกัน ตั้งแต่การสะสมเป็นหน่วยกิต เป็น credit bank รวมทั้งเรื่องการเรียนออนไลน์ เรื่อง MOOC – massive open online course ต้องจัดมารูปแบบนี้ให้คนได้เรียนรู้มากขึ้น รูปแบบมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับเปลี่ยน ห้องเรียนคนเรียนสามารถเรียนได้ทุกแห่ง คงไม่ได้เรียนแต่ในห้องเรียนอย่างเดียวแล้ว รูปแบบของการให้การศึกษาต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

     ตอนนี้ก็มีเรื่อง internet of things เข้ามา เรื่องของ blockchain เข้ามา มันเข้ามาอย่างรวดเร็วมาก ถ้าเราไม่ปรับจะเหมือนโกดักหรือเหมือนกับหนังสือวารสารที่หายไปจากแผงเนื่องจากคนอ่านน้อยลง ขณะเดียวกัน อาจจะต้องมองหาลูกค้าจากเพื่อนบ้านใกล้เคียงมากขึ้น อันนั้นก็เป็นแนวโน้มอย่างหนึ่งของการศึกษาที่ต้องปรับเปลี่ยน

     นอกจากนี้ จากเดิมที่มหาวิทยาลัยเน้นเรียนสาขาใดสาขาหนึ่งแล้วออกไปทำงาน ต่อไปคนเรียนรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว อาจจะต้องเรียนรู้เป็นแบบพหุสาขาวิชา คือคุณเข้าไปแล้วต้องเรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อที่เมื่อจบออกไปแล้วมันสามารถทำงานได้หลากหลาย เช่น สื่อสารมวลชนอาจจะต้องมีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ต้องมีความรู้ทางด้านภาษา จบออกไปเขาอาจจะเป็นผู้สื่อข่าวภาษาอังกฤษ หรือไปสื่อข่าวทางด้านเศรษฐกิจ คือต้องมีความรู้หลากหลายสาขามากขึ้น จะไม่เป็นรูปแบบอย่างเดิมแล้ว

     “โดยสรุป การเรียนรู้รูปแบบใหม่ก็ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ที่เป็นสหสาขาวิชา หรือพหุสาขาวิชา บัณฑิตต้องมีความรู้ มีความหลากรู้หลายสาขา เพื่อจะเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก คณะยังมีอยู่แต่ว่ามีแนวโน้มว่าอาจจะมีวิชาแบบวิชาเลือกแต่ละคณะให้มากขึ้น แล้วคณะหนึ่งคณะใดเราก็ไม่จำเป็นต้องตั้งใหม่ หรือถ้าจำเป็นในอนาคตอาจจะต้องมีการหลอมรวมกัน แต่เป็นเรื่องของอนาคตแล้ว เราเห็นว่าเวลาลงลึกไปแล้วอย่างคณะวิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยีกับคณะการสื่อสารมวลชนเข้ามาใกล้กันทุกทีเลย เพียงแต่ว่าวิทยาลัยฯ เป็นด้านคอมพิวเตอร์ ทางด้านผลิตเกม ขณะที่สื่อสารมวลชนเน้นการสื่อสาร เน้นทางด้านภาพยนตร์ แต่พอไปดูภาพยนตร์ก็ไปคล้ายกับวิจิตรศิลป์ ก็มีสาขาการแสดงปนอยู่ แต่ออกไปด้านออกแบบแฟชั่นไปอีกทางหนึ่ง”


“โครงสร้างคณะ – บุคลากร” ปรับตัวตามความต้องการ

     ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ กล่าวถึงการรวมคณะหรือยุบคณะว่า พอรูปแบบเข้ามาใกล้ๆ กันขึ้นในระยะหลัง แต่ถามว่าจะหลอมรวมหรือไม่ขึ้นอยู่กับอนาคต ถ้าไม่มีคนเรียนก็ยุบลงไปตามธรรมชาติ แต่พอถึงเวลาจริงๆ สภาพของผู้เรียนที่มุ่งเข้ามาหาวิชาที่เรียนจะบังคับเอง หรือไม่หลอมรวมแต่การมีคณะสาขาวิชาก็ต้องบูรณาการกันมากขึ้น อาจจะรวมกันในระดับภาควิชามากขึ้น ยกตัวอย่างแพทย์ พอใกล้กันมากขึ้น วิชาสรีรวิทยากับวิชาชีวเคมีก็ใกล้กัน เมื่อก่อนชีวเคมีเราเรียนเรื่องการทำงานระดับเซลล์ แต่สรีระเรียนระดับอวัยวะ พออวัยวะลงลึกไปเรื่อยๆ ก็ไปถึงระดับเซลล์อยู่ดี ก็เข้ามาปะปนกันโดยอัตโนมัติ

     งานวิจัยก็สวมกันเองเลยก่อนที่อย่างอื่นจะเข้ามา เพราะก็เชื่อมโยงกันอยู่แล้ว เราแค่ไปจับแยกเพื่อความง่ายของการเรียนรู้เท่านั้น ดังนั้นสาขาอื่นๆ ข้างนอกก็มีลักษณะคล้ายๆ กันแบบนี้อยู่

     ส่วนเรื่องจำนวนคณะในปัจจุบัน เป้าหมายคือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีครบทุกศาสตร์ทุกวิชา เป็น comprehensive มีการเปิดคณะการเรียนการสอนครบทุกสาขาวิชาแล้ว ที่ขาดตอนนี้เรากำลังเตรียมขยายเรื่องดนตรีสากลดนตรีปัจจุบันเป็นคณะใหม่ด้านนี้อยู่ คณาจารย์เริ่มมีแล้ว เครื่องมือก็ต้องจัดหาเตรียมการ คณะวิจิตรศิลป์กำลังเตรียมการ เรามีคณะสาธารณสุขศาสตร์ที่เปิดขึ้นมาใหม่ด้วย

     ขณะที่เรื่องการเตรียมบุคคลากร เขาบอกว่าเรื่องที่เปลี่ยนยากสุดคือคน อาจารย์ก็คงเปลี่ยนได้ยากสุด แต่พวกนี้จำเป็นต้องมีกระบวนการดำเนินการ เพราะถึงเวลาเขาก็ต้องรับรู้ว่ามันต้องเข้าใจว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ทุกคนต้องเตรียมตัว จะอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว เพิ่งสัมมนาไปเรื่องของ disruptive university and education ว่าก็เหมือนกับธนาคาร ถ้าไม่ปรับรูปแบบ ต่อไปก็ต้องปิดตัวเองไป คนไปธนาคารลดลง คนใช้ออนไลน์กัน การศึกษาเหมือนกัน ถ้าคนใช้ออนไลน์เรียนได้ คนก็ไม่ไปกัน ก็ต้องปรับรูปแบบใหม่ แต่การเรียนจะแบบออนไลน์หรือในมหาวิทยาลัยก็ต้องมีอาจารย์ การเรียนบางอย่างที่ต้องใช้ทักษะ อย่างการแพทย์ ทางด้านวิศวกรรม ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ให้ดูรูปดูแบบบางครั้งก็ไม่เข้าใจ ต้องอาศัยการเรียนที่มหาวิทยาลัยที่สอนอ่านอยู่



3 ยุทธศาสตร์ “สิ่งแวดล้อม-พลังงานทางเลือก สุขภาพ-ผู้สูงอายุ ล้านนาสร้างสรรค์”

     ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ กล่าวต่อไปถึงการปรับตัวของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า พอพูดถึงการศึกษารูปแบบใหม่ ก้าวใหม่ของ มช. จะต้องมีเรื่องการศึกษารูปแบบใหม่และการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาการเรียนต่างๆ อันนี้ในยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนที่เป็นอธิบการบดีสมัยแรกในปีที่ 4 ได้สัมมนากลุ่มผู้บริหารทั้งหมดเลยช่วงประชุมกลางปี มีคนมาสัก 300-400 คน แล้วคุยเรื่องยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ก็ได้ข้อสรุปว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในทิศทาง 4 ปีข้างหน้า โดยสรุปแผนพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปี 2560-2564 อยู่ 3 ด้าน ด้านแรกคือสิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือก ด้านที่สองคืออาหารและสุขภาพ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และด้านสุดท้ายคือล้านนาสร้างสรรค์ เราเห็นว่าของดีของเมืองเหนือมีหลายอย่าง สมุนไพร การแต่งกาย ศิลปะ การแสดง คนคิดว่าควรจะผดุงรักษาเอาไว้ต่อไป นอกนั้นก็จะเป็นยุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การเรียนการสอน การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ

“ถามว่าทำไมมาเน้นที่ 3 ด้านนี้ เนื่องจากเรามารวมกันแล้วมาช่วยกันคิด มองปัญหาเยอะแยะทั้งหมดเลยว่ามันมีอะไรบ้างที่สำคัญ แล้วมามองว่าอะไรที่เป็นศักยภาพของมหาวิทยาลัย ที่เรามีความพร้อมทางด้านความรู้ ความพร้อมเรื่องคนที่มี แล้วเราก็สรุปจากทั้งหมดว่าเราจะมี 3 ด้านเป็นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วบังเอิญว่ายุทธศาสตร์เชิงรุกของประเทศ 90 หน้ามันก็มี 3 อันนี้ทั้งหมด ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม เรื่องอาหาร สุขภาพ เรื่องผู้สูงอายุ เรื่องของความสามารถของท้องถิ่น ตรงกับยุทธศาสตร์ประเทศไปหมดเลย เราเลยสบาย พอมาทำแบบนี้มันก็ไปได้เลย”


พลังงานทางเลือก-มหาวิทยาลัยสีเขียว

       ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ ขยายความตัวยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ว่า ในยุทธศาสตร์แรก พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ หรือ Energy Research and Development Institute (ERDI) เรามีความโดดเด่นเรื่องการทำพลังงานทางเลือก ตั้งมาร่วม 10 ปีแล้ว ทำงานเรื่องแก๊สชีวภาพ ถามว่ามาจากไหน ก็ได้จากการหมักของเสียทั้งหลาย ก็ได้แก๊สมีเทน แล้วทั้งหมดการศึกษาของเราก็ให้เอกชน-ราชการร่วมมือกัน ออกแบบทำรูปแบบบ่อหมัก มีกระบวนการกรองให้บริสุทธิ์ มีการบีบอัดเป็น CBG แล้วเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นพลังงานให้รถวิ่ง ใช้ทำให้เกิดความร้อนก็ได้ ของ มช. เป็นตัวอย่างไปช่วยออกแบบให้ทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศอย่างลาว กัมพูชา เมียนมาด้วย

       หรือปัจจุบัน สถาบันฯ นี้ได้งบประมาณจากรัฐบาลมาทำวิจัยเรื่องโรงกำจัดขยะด้วย เราก็เป็นโครงการนำร่อง วันหนึ่งเอาขยะทั้ง มช. 20 ตันเข้ามาที่โรงงานแล้วผลิตแยกเป็นของแข็งออกมาต่างหาก เอาพวกชีวภาพใส่ไปหมักทำแก๊สชีวภาพ ก็เป็นรูปแบบสลายขยะอีกทางหนึ่ง


       นอกจากทำเรื่องพลังงานแล้วก็มีเรื่อง solar rooftop ที่กำลังเริ่มใน มช. มีสถาบันฯ ไปดูแลการติดบนหลังคาต่างๆ ของ มช. เพื่อจะผลิตไฟฟ้าใช้เพิ่มเติม ก็ทำไปหมดแล้ว จริงๆ ก็ยังมีพลังงานรูปแบบอื่นที่กำลังวิจัย ต่อมาคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นเรื่องหลักเลย จริงๆ ตั้งแต่เข้ามาบริหารงานชุดแรกแล้ว เราได้การร้องเรียนมาจากศิษย์เก่า จากคณาจารย์ว่า มช. เมื่อ 50 ปีก่อนสวยงาม อากาศดี แต่ 50 ปีให้หลังมันระเกะระกะไปหมด เราก็พยายามปรับให้สวยงาม อย่างน้อยก็ไม่ด้อยกว่า 50 ปีก่อน การปรับรูปแบบเริ่มจากการปรับรูปแบบจราจรของมหาวิทยาลัย ระบบขนส่งทั้งหลาย พวกนี้ทำอย่างไร ตั้งแต่การแยกขยะมาทำพลังงานก็ได้เรื่องของการใช้รถไฟฟ้า พลังงานสะอาดมาด้วย เรื่องของการตรวจตรารถเข้าออกในมหาวิทยาลัย ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถติดตามได้ว่ารถใครเข้าออกเมื่อไหร่ รถไฟฟ้าวิ่งเป็นสายๆ อยู่ตรงไหนบ้าง 


       แต่เป้าหมายที่วางไว้คือจะทำถนนวงแหวนในมหาวิทยาลัย ทำเสร็จเรียนร้อยแล้ว วงแหวนทิศตะวันตกผ่านคณะการสื่อสารมวลชนแล้วเลาะไปหลังคณะสังคมกับตลาดชมพู แล้วไปออกคลองอ่างแก้ว หักขวาออกทางด้านอาคารลานสัก แล้วออกหน้ามหาวิทยาลัย เสร็จพร้อมใช้งานแล้ว ที่จะตามมาอีกคือจะทำอาคารจอดรถออกแบบไว้ 4 อาคาร ทำอาคารแรกเสร็จแล้ว กำลังจะทำอาคารที่ 2 ตรงคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาคารที่ 3 ตรงหน้า มช. และสุดท้ายตรงทิศตะวันออกตรงข้ามคณะวิทยาศาสตร์ คือดักตรงประดูทางเข้าทั้งหมด เราวางเป้าหมายว่ารถทุกคันที่เข้ามาในมหาวิทยาลัย ซึ่งวันหนึ่งจะเข้ามา 4,000-5,000 คันต่อวัน การออกแบบอาคารตรงนี้มันรองรับได้เกือบทั้งหมด ดังนั้น รถที่เข้ามาต่อไปจะวิ่งได้เฉพาะวงแหวนรอบนอกเท่านั้น เข้ามาถึงก็ต้องจอดที่อาคารจอดรถ จากวงแหวนรอบนอกเข้าไปด้านในทำได้แค่นั่งรถไฟฟ้า เดิน หรือปั่นจักรยาน รถที่ใช้น้ำมันจะไม่ให้เข้าในใจกลางของมหาวิทยาลัย แต่คงต้องรอเรื่องอาคารจอดรถให้เสร็จทั้งหมดก่อน


โครงการ medical hub “long term care”

      ยุทธศาสตร์ที่ 2 คืออาหาร สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุตอนนี้เรามีโรงพยาบาลผู้สูงอายุ เปิดมาแล้ว 2 ปีแล้ว แล้วเราก็มีสถานที่ที่เรียกว่า long term care เป็นที่สำหรับเป็นโมเดลนำร่องให้กับสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ คือผู้สูงอายุเราจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเรียกว่าติดสังคม คือยังแข็งแรงอยู่ ระยะที่สอง มีข้อจำกัดบ้างเล็กน้อย เรื่องการเคลื่อนไหว เรียกว่าติดบ้าน ระยะสุดท้าย มีข้อจำกัดมากขึ้นต้องมีคนช่วยดูแล เรียกว่าติดเตียง long term care ของเราจะดูแลผู้สูงอายุติดบ้านระยะท้ายๆ ไปจนถึงติดเตียง ส่วนโรงพยาบาลคือดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยทั้งหมดอยู่แล้ว ตอนนี้ทำอาคารขึ้นมาใหม่ในเนื้อที่ 10 ไร่ เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมให้บริการ เราคงเน้นไปที่การดูแลเพื่อเป็นต้นแบบ รวมไปถึงการวิจัยต้นแบบด้วย

       นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยได้พื้นที่จากกรมธนารักษ์ประมาณ 7 ไร่ ริมแม่น้ำปิงเป็นโรงเหล้าเก่า เป้าหมายจะทำเป็นพื้นที่สาธิตการให้การดูแลผู้สูงอายุ แต่เป็นผู้สูงอายุปกติ แยกออกไปอีกที่หนึ่ง สำหรับทางด้านอาหารและสุขภาพ เราจะมีเรื่องโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ จะมีโครงการ medical hub ในการดูแลเป็นหลัก เรื่องอาหารจะมีคณะอุตสาหกรรมเกษตรที่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลอาหารรูปแบบใหม่ๆ สำหรับผู้สูงอายุหรือรูปแบบอื่นๆ ตามความต้องการต่างๆ อันนี้กำลังดำเนินการอยู่



ศูนย์เรียนรู้ล้านนาสร้างสรรค์

        ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือล้านนาสร้างสรรค์ อันนี้เป็นเรื่องการนำของดีๆ ในล้านนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ล้านนา เรื่องของอาหารล้านนา การแสดงและศิลปะของล้านนา เอามารวบรวมไว้ เพื่อเป็นผู้นำและศูนย์กลางการพัฒนาองค์ความรู้ด้านล้านนาศึกษาและงานวิจัยต่างๆ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงของแหล่งข้อมูลด้วยการใช้เทคโนโลยี เช่น การจัดทำ Lanna.com ของมหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มการเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ, มีการจัดทำหลักสูตรระยะสั้น กลาง ยาว ตั้งแต่ 3-7 วัน เพิ่มเติมจากเดิมที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรล้านนาคดีศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและโทอยู่ในปัจจุบัน, มีการต่อยอดงานวิจัยหรือจากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนคัดเลือกผลงานเด่น เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยจะจัดตั้งศูนย์ Creative Lanna Development Center เป็นที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ คิดค้นคว้า ทดลอง แลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ต่างๆผ่านการเชื่อมโยงเครือข่าย องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งระดับชาติและนานาชาติ สุดท้ายคือการสร้างสภาพแวดล้อมแบบล้านนาในทางสถาปัตยกรรม เช่นระบบถนน เครื่องประดับถนน ป้าย ประตู รั้ว ฯลฯ


ชูบทบาทศูนย์กลางอาเซียนตอนเหนือ เชื่อมจีน-ลาว-เมียนมา

       ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ กล่างถึงประเด็นบทบาทระดับนานาชาติสำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า เนื่องจากเราอยู่ในภาคเหนือของประเทศ ถ้าดูภูมิศาสตร์แล้วมันเหมือนกับแวดล้อมไปด้วยซ้ายมือเป็นเมียมา ด้านบนเป็นจีน ขวามือมีลาว เวียดนาม กัมพูชา เราเป็นศูนย์กลางของอาเซียนตอนบน ไม่ใช่เป็นศูนย์กลางโดยคำพูดอย่างเดียว แต่เป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์และโลจิสติกส์จริงๆ จากเชียงใหม่ไปมัณฑะเลย์ ไปย่างกุ้ง ไปคุนหมิง ไปหลวงพระบาท ไปเวียงจันทน์ ไปพนมเปญ มันใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้นเอง มันสามารถเชื่อมโยงได้ด้วยทางอากาศ ขณะเดียวกัน ทางบกมันเริ่มมีความคล่องตัวมากขึ้น และทางน้ำก็มีแม่น้ำโขงลงไปได้ ทำให้เราเป็นเหมือนศูนย์กลางของอาเซียนตอนบน

       เราก็พยายามที่จะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว ทั้งกัมพูชา ทั้งเวียดนาม การช่วยเหลือจะมีทั้งการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เราให้ความช่วยเหลือเมียนมาค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในเมืองมัณฑะเลย์ ในหลวงพระบางก็เข้าไปมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องวิชาการ ส่งอาจารย์ไปช่วยเหลือ ไปเปิดวิชาการเรียนการสอน เราไปเปิดหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ ปริญญาโท ที่เมียนมา มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เป็นหลักสูตรนานาชาติ ไปสอนที่นั่น แล้วก็มีบางช่วงที่อยู่ที่ มช. เปิดมาเป็นปีที่ 3 แล้ว หลักสูตรเรียน 2 ปีจบ

      แล้วที่มัณฑะเลย์ ก็ยังใช้ความช่วยเหลือไปจัดเหมือน CMU Corner จากที่นั่นจะมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เขาเชื่อมโยงเข้ามาดูข้อมูลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เขาค้นหาหนังสืออะไรต่อมิอะไรที่เราได้ ที่คุนหมิง ที่เฉิงตู ที่หนานหนิง จะมีคล้ายๆ กับศูนย์ไทย หรือ Thai Center ไปกระจายให้ความรู้ของ มช. และประเทศไทยกับที่จีน

     เราให้ความสำคัญเรื่องนี้เพื่อให้อย่างแรกเราไปช่วยเหลือ ขณะเดียวกันถ้าต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ ต้องการเชื่อมโยงหรือให้ความช่วยเหลือไทยหรือเพื่อนบ้าน เราก็สามารถให้มาลงที่เราได้ เป็นสะพานเชื่อมยังประเทศรอบข้างได้ อันนี้คือเรื่องของความเป็นนานาชาติ เรากำลังจะเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนต่างชาติมากขึ้น ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท จะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป





ที่มา  https://thaipublica.org/2019/02/changmai-university-niwet-nanthachit/  



ข้อมูลโดย : https://thaipublica.org/2019/02/changmai-university-niwet-nanthachit/
แกลลอรี่