“มะเกี๋ยงต้านมะเร็ง” นักเคมี คณะวิทย์ มช. ปรับปรุงโครงสร้างทางเคมีของสารประกอบจากเมล็ดมะเกี๋ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการต้านมะเร็งปากมดลูก

13 กุมภาพันธ์ 2567

คณะวิทยาศาสตร์

             ทีมวิจัย BMBL และ OSRL ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับเครือข่ายวิจัยทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาวิจัย เพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางเคมีของสารประกอบ 2',4'-dihydroxy-6' methoxy-3',5'-dimethylchalcone (DMC) ที่แยกได้จากเมล็ดมะเกี๋ยง ด้วยการเติมหมู่ของกรดอะมิโน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งปากมดลูก และตรวจสอบศักยภาพในการต้านมะเร็งปากมดลูกในระดับหลอดทดลอง (in vitro) ด้วยการวิเคราะห์วัฏจักรเซลล์ และการวิเคราะห์เอ็มอาร์เอ็นเอ  ภายใต้งานวิจัย หัวข้อ 2',4'-Dihydroxy-6' methoxy-3',5'-dimethylchalcone and its amino acid-conjugated derivatives induce G0/G1 cell cycle arrest and apoptosis via BAX/BCL2 ratio upregulation and in silico insight in SiHa cell lines 

ผลการศึกษาพบว่า สารประกอบ 4'-O-(L-alanylated) DMC มีประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งปากมดลูกชนิดสเควมัสเซลล์คาร์ซิโนม่า (SiHa) ด้วยการยับยั้งวัฏจักรเซลล์ที่ G0/G1 และมีการเพิ่มของระดับอาร์เอ็นเอของ TP53 และ CDKN1A ซึ่งส่งผลให้เพิ่มขึ้นของ BAX และมีการลดลงของ CDK2 ที่นำไปสู่การหยุดของวัฏจักรเซลล์และอะพอทโทซิส

จากอัตราส่วนของ BAX/BCL2 มีการเพิ่มขึ้นของระดับอารเอ็นเอที่นำไปสู่กระบวนการอะพอทโทซิสภายในเซลล์ ซึ่งการค้นพบใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่า 4'-O-(L-alanylated) DMC มีศักยภาพในการต้านมะเร็งปากมดลูก และสามารถนำเอาองค์ความรู้ใหม่ของกลไกเชิงลึกในการต้านมะเร็งปากมดลูก ไปต่อยอดงานวิจัยในระดับสัตว์ทดลอง (in vivo) ได้

การศึกษาวิจัยนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนายาต้านมะเร็งปากมดลูกในระดับต้นน้ำ ซึ่งจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการต้านมะเร็งปากมดลูกชนิดใหม่ของอนุพันธ์ชาโคล ที่สามารถนำไปต่อยอดงานวิจัย สำหรับการทดลองในระดับสัตว์ทดลอง (in vivo) เพื่อพัฒนาไปสู่การผลิตยาต้านมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย ลดการนำเข้ายาราคาแพงจากต่างประเทศได้

ผลงานได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร European Journal of Pharmaceutical Sciences Volume 184, 1 May 2023
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0928098723000210

.
นักวิจัย
ทีมวิจัย BMBL และ OSRL ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นำโดย รศ.ดร.พัชณี แสงทอง (1) ร่วมกับ รศ.ดร.พุฒินันท์ มีเผ่าพันธ์ (2) ที่ปรึกษาโครงการวิจัย นาย ไกรกริช อุตมะ (3) นักศึกษาระดับปริญญาเอกได้รับทุนโครงการสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) นายนพวิชญ์ คำโทะ (4) นักศึกษาระดับปริญญาเอกได้รับทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) 

ร่วมกับเครือข่ายวิจัยทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ ดร.สิทธิรักษ์ รอยตระกูล (5) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ผศ.ดร.จิราภรณ์ กันทะพันธ์ (6) ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาลัยเชียงใหม่  ผศ.ดร.จอมขวัญ มีรักษ์ (7) ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ดร.ไพฑูรย์ อบเชย (8) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


แกลลอรี่