ปวดคอบ่อย ต้องระวัง? โรคกระดูกคอเสื่อม

16 กุมภาพันธ์ 2567

คณะแพทยศาสตร์

การปวดคอมักเป็นปัญหาบ่อยสำหรับผู้ที่นั่งทำงานในออฟฟิศเป็นระยะเวลานาน อาการปวดนั้นบางรายจะปวดบริเวณลำคอ ร้าวลงแขน มักปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง หรืออาจปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอย หรือลงมาบริเวณสะบัก และอาจปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือออกแรง

ลักษณะอาการของผู้ป่วยที่เข้าพบแพทย์
1.ผู้ป่วยมีอาการปวดต้นคอ ผู้ป่วยจะมีเพียงแต่อาการปวดต้นคอ โดยที่ไม่พบลักษณะความผิดปกติของระบบประสาท ส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลัน สาเหตุมักจะมาจากกล้ามเนื้อต้นคออักเสบ หรือมีอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกต้นคอ ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อม
2.ผู้ป่วยที่มีอาการปวดต้นคอร่วมกับมีอาการของการกดทับของรากประสาท ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดต้นคอร้าวลงแขน อาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงของแขนจากการกดทับของรากประสาทระดับคอ
3.ผู้ป่วยที่มีอาการปวดต้นคอร่วมกับมีอาการของการกดทับไขสันหลังระดับคอ ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดต้นคอร่วมกับมีอาการอ่อนแรงแขนและขา ชามือและเท้าทั้ง 2 ข้าง เดินไม่สะดวกทรงตัวลำบาก มือใช้งานได้ไม่เต็มที่ บางรายมีอาการของระบบขับถ่ายที่ผิดปกติ

สาเหตุของอาการปวดคอ
-ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
-อุบัติเหตุ
-เนื้องอกและมะเร็ง (พบได้ไม่บ่อย)
-ภาวะติดเชื้ออื่นๆ เช่น ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อแบคทีเรียบางตัว หรือเชื้อวัณโรคทำลายหมอนรองกระดูก เป็นต้น
-ภาวะการเสื่อมของกระดูก และหมอนรองกระดูกส่วนใหญ่พบอายุ 55 ปีขึ้นไป ปัจจัยหลักที่ทำให้แสดงอาการ ได้แก่การทำงาน กรรมพันธุ์ และอายุ
-ภาวะอักเสบอื่นๆ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์

สาเหตุตามกายวิภาค
ระบบโครงสร้างร่างกาย
• ข้อต่อกระดูกสันหลัง
• หมอนรองกระดูก
ระบบเยื่ออ่อน
• ผิวหนัง ชั้นใต้ผิวหนัง
• ระบบกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
ระบบประสาท
• สมอง เส้นประสาทสมอง
• ไขสันหลัง
รากประสาท เส้นประสาท
• ระบบอื่นๆ เช่น ระบบหายใจ ระบบเคี้ยว กลืน ระบบการได้ยิน

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท
การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด (90-95 เปอร์เซ็นต์ จะทำการรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดก่อนเสมอ)
-เมื่อรู้สึกปวดให้พักผ่อนดีที่สุด หรือใช้กล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดลดลง
-เมื่อรู้สึกดีขึ้นแล้วไม่ปวด ให้ออกกำลังกาย เมื่อกล้ามเนื้อกระดูกมีความแข็งแรงหรือเหมาะสม การหลวมของข้อต่อหรือหมอนรองกระดูกจะดีขึ้น ซึ่งกล้ามเนื้อจะมีส่วนสำคัญมากในการยึดตรงข้อต่อ
-รับประทานยา หรือฉีดยา
-กายภาพบำบัด
-ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน
-ทางเลือกอื่นๆ (นวด,ฝังเข็ม,จัดกระดูก)
-ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์

การผ่าตัดรักษา
ในผู้ป่วยบางรายที่มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด หลักการ 3 อย่าง ในการผ่าตัดโรคกระดูกสันหลัง
1. แก้ไขการกดทับ เส้นประสาทและไขสันหลัง(Decompression) อะไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นก้อนหมอนรองกระดูก ก้อนกระดูกงอก ก้อนมะเร็งที่ทับเส้นประสาท
2.เพิ่มความมั่นคงของกระดูกคอให้เหมาะสม(stabilization)
3.แก้ไขการผิดรูป(deformity correction)
ตัวอย่างการผ่าตัดกระดูกสันหลังระดับคอ
• ผ่าตัดจากทางคอด้านหน้า ผ่าตัดจากทางด้านหลัง ซึ่งมีความหลากหลายของเทคนิคในการผ่าตัด
• ผ่าตัดแบบส่องกล้อง เช่น กล้องจุลทรรศน์( Microscope ) ,กล้องเอ็นโดสโคป(Endoscope) เป็นต้น
• ผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอเทียม

อาการปวดคอแบบไหนอันตราย
1.มีอาการปวดคอมาก เป็นมานานกว่า 2 สัปดาห์ ได้พักผ่อนและใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้น
2.ปวดคอภายหลังได้รับอุบัติเหตุ
3.มีอาการอ่อนแรงของแขนและขา เดินเซ หรือมีอาการชา หรือปวดร้าวไปที่แขนร่วมด้วย
4.มีอาการปวดข้อ หรือข้ออักเสบอื่นๆ ของร่างกายร่วมด้วย
5.มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรืออาการเจ็บอกร่วมด้วย
6.ไม่สามารถเคลื่อนไหวคอในทิศทางต่างๆได้เป็นปกติ
7.มีประวัติเป็นมะเร็งมากก่อน
8.มีประวัติใช้ยาบางประเภทเป็นระยะเวลานาน เช่น สเตอรอยด์ ,ยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น

การหาสาเหตุของอาการปวดคอเมื่อพบแพทย์
– ซักประวัติ
– ตรวจร่างกาย
– ส่งตรวจทางรังสี(X-Ray,CT,MRI)
– ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์
– ส่งตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท เป็นต้น

การป้องกันโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท
-การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมท่านั่งการทำงานให้ถูกต้อง ควรนั่งให้หลังตรง ระดับเข่าต่ำกว่าสะโพก เท้าวางราบไปกับพื้น
-ควรลุกออกจากโต๊ะทำงานทุกๆ 2 ชั่วโมง
-การปรับอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับท่าทางในการทำงาน
-หลีกเลี่ยงการแบกของหนัก และการสะพายกระเป๋า โดยไหล่ข้างเดียว
-ควรยืดและออกกำลังกายกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงและสร้างความมั่นคงให้กับกระดูกสันหลังคอได้

ออฟฟิศซินโดรม
-ออฟฟิศซินโดรม หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด คืออาการปวดกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง เช่น การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกินไปโดยไม่ขยับ ผ่อนคลาย หรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งอาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง รวมไปถึงอาการชาที่บริเวณแขนหรือมือ จากการที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง

อาการของออฟฟิศซินโดรม
1.ปวดกล้ามเนื้อ เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก มักมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน อาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียง ร่วมด้วยมีลักษณะอาการปวดล้าๆ
2.อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งพบร่วมได้ เช่น ซ่า วูบ เย็น เหน็บ ซีด ขนลุก เหงื่อออกตามบริเวณที่ปวดร้าว หากเป็นบริเวณคออาจมีอาการมึนงง หูอื้อ ตาพร่า
3.อาการทางระบบประสาทที่กดทับ เช่น อาการชาบริเวณแขน ข้อศอกและมือ รวมถึงอาการอ่อนแรง หากมีอาการกดทับเส้นประสาทนานเกินไป

การป้องกันเพื่อลดปัญหาออฟฟิศซินโดรม
-การปรับเปลี่ยนท่าทางอิริยาบทเพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
-ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการทำงานที่จำเป็น
-เตรียมร่างกายให้พร้อม เช่น การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณที่ต้องใช้งานหนัก การยืดกล้ามเนื้อก่อน ระหว่าง และหลังจากการทำงานในแต่ละวัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: อ.นพ.สุทธิภาศ พงศ์มณี
ผู้ช่วยคณบดี และอาจารย์ประจำหน่วยกระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่