รู้เรื่องบริจาคโลหิต ประโยชน์มากกว่าที่คิด

6 กันยายน 2566

คณะแพทยศาสตร์

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เป็นโรงเรียนแพทย์ ระดับตติยภูมิชั้นนำของประเทศไทย ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 3 ของประเทศไทย ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือจำนวน 1,400 เตียง สามารถรองรับการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต่างๆ ในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงมีความต้องการโลหิตสำหรับการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังมีศูนย์ศรีพัฒน์ ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และมีแผนการขยายการรักษาพยาบาลไปที่ศูนย์การแพทย์หริภุญไชย ณ จังหวัดลำพูน ภายใต้การดูแลของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โลหิตบริจาคทุกถุงจะถูกนำไปเตรียมเป็นส่วนประกอบของโลหิตชนิดต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดหัวใจทุกวันทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังเป็นศูนย์การรักษาเฉพาะทางด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น การปลูกถ่ายไต ปลูกถ่ายตับ และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต จึงมีความต้องการใช้โลหิตและส่วนประกอบของโลหิตในแต่ละวันในปริมาณที่ค่อนข้างมาก และที่สำคัญในปัจจุบันการจราจรตามท้องถนนมีความคับคั่งจึงมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้งานธนาคารเลือดยังต้องจัดเตรียมโลหิตสำหรับผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด ที่ต้องมารับโลหิตเป็นประจำทุกเดือนประมาณเดือนละ 500 ถุง
งานธนาคารเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จึงต้องทำการสำรองเลือดทุกหมู่ให้เพียงพอต่อการรักษาพยาบาลและพร้อมที่จะรองรับเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

การบริจาคโลหิตโดยทั่วไป ได้แก่
1.การบริจาคโลหิตครบส่วน (Whole blood) สามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือน เพราะต้องรอให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาก่อน
2.การบริจาคโลหิตเฉพาะส่วน โดยใช้เครื่องอัตโนมัติ (apheresis)
-บริจาคเกล็ดโลหิต (Plateletpheresis) ผู้บริจาคจะได้รับการตรวจหาค่าสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเพื่อดูลักษณะของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและปริมาณเกล็ดเลือดที่มีอยู่ในร่างกายทุกครั้งก่อนที่บริจาคเกล็ดโลหิตเพื่อใช้ในการคำนวณหาค่าที่เหมาะสมสำหรับการบริจาคเกล็ดโลหิตเนื่องจากผู้บริจาคแต่ละคนจะมีปริมาณเกล็ดโลหิตในร่างกายไม่เท่ากัน โดยจะใช้เวลาในการบริจาคนานประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง – 2 ชั่วโมง เครื่องแยกเม็ดเลือดอัตโนมัติจะดึงเฉพาะส่วนของเกล็ดโลหิตออกมาแล้วจะคืนส่วนประกอบของโลหิตชนิดอื่นกลับสู่ร่างกายเหมือนเดิม

การบริจาคเฉพาะเกล็ดโลหิตผู้บริจาคจึงสามารถมาบริจาคได้ทุกเดือน
-บริจาคน้ำเหลือง (Plasmapheresis) จะบริจาคเฉพาะส่วนของพลาสมา
-บริจาคเม็ดเลือดขาว (Leukapheresis) จะแยกเฉพาะเม็ดเลือดขาวออกมา
-บริจาคเม็ดเลือดแดง (Single Donor Red Cell) ในผู้ที่มีหมู่เลือดหายากและแพทย์มีความจำเป็นต้องใช้เลือดในปริมาณมาก อาจขอรับบริจาคเฉพาะเม็ดเลือดแดงจำนวน 2 ถุง
ดังนั้นผู้บริจาคโลหิต 1 ท่าน สามารถให้ประโยชน์จากการแยกส่วนประกอบของโลหิตชนิดต่างๆเพื่อนำไปใช้ในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ผู้บริจาคโลหิตจะต้องปลอดภัยในการบริจาคเฉพาะส่วนและผู้รับก็ต้องมีความปลอดภัยจากการใช้เลือดและส่วนประกอบของเลือดด้วย

กระบวนการบริจาคโลหิต มีหลายขั้นตอนดังนี้
-กรอกประวัติ
-ตรวจสุขภาพเบื้องต้น
-บริจาคเลือด
-พักรับประทานอาหารว่าง/เครื่องดื่ม

กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที
แบบสอบถามผู้บริจาคโลหิตแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ ดังนี้
-สุขภาพทั่วไป
-การตั้งครรภ์ /คลอดบุตร
-ประวัติด้านเพศสัมพันธ์
-ประวัติความเสี่ยงของการติดเชื้อต่างๆ

คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้บริจาคโลหิต
-มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป (น้ำหนัก 53 กิโลกรัมขึ้นไป กรณีบริจาค ณ หน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่)
-อายุ 17-70 ปี (กรณีอายุ 17 ปี ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ต้องได้รับการเซ็นยินยอมจากผู้ปกครอง , กรณีบริจาคครั้งแรก อายุต้องไม่เกิน 60 ปี)
-มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เป็นไข้ หวัด ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีเสมหะ หรือท้องเสีย
-ไม่เป็นโรคหัวใจ โรคตับ โรคปอด โรคเลือด โรคมะเร็ง หรือมีภาวะโลหิตออกง่ายและหยุดยาก
-ไม่เป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบ
-ไม่เป็นไข้มาลาเรียใน 3 ปี หรือเข้าไปในเขตที่มาลาเรียชุกชุมใน 1 ปี
-ไม่มีประวัติผ่าตัดใหญ่ คลอดหรือแท้งบุตรใน 6 เดือน
-สุภาพสตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
-ไม่สัก ลบรอยสัก เจาะหู หรือเจาะส่วนอื่นๆ ของร่างกายในระยะเวลา 4 เดือน
-ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์
-ไม่มีประวัติการใช้สารเสพติดทุกประเภท
* ในขั้นตอนของการคัดกรองผู้บริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตต้องตอบคำถามด้วยความจริงเพื่อความปลอดภัยต่อทั้งผู้ป่วยและผู้บริจาคโลหิตเอง

การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต
นอนหลับให้เพียงพอไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง
-รู้สึกสบายดี สุขภาพแข็งแรง พร้อมบริจาคโลหิต
-ถ้ามีอาการท้องร่วง ท้องเสีย ขอเว้น 7 วัน
-ไม่อยู่ระหว่างรับประทานยารักษาโรคบางอย่าง
-เจาะ สัก ฝังเข็ม เว้น 4 เดือน
-ดื่มน้ำก่อนบริจาคโลหิต 30 นาที ประมาณ 3-4 แก้ว
-งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใน 24 ชั่วโมง ในกรณีดื่มประจำทุกวันของดดื่ม 7 วัน
-อุดฟัน ขูดหินปูน เว้น 3 วัน
-ถอนฟัน รักษารากฟัน เว้น 7 วัน
-ผ่าตัดใหญ่เว้น 6 เดือน
-ผ่าตัดเล็กเว้น 7 วัน
-ควรรับประทานอาหารประจำมื้อก่อนมาบริจาคโลหิตภายใน 3-4 ชั่วโมง
-งดอาหารที่มีไขมันสูงอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
-งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิตอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
แนวทางปฎิบัติการรับบริจาคโลหิต ในสถานการณ์การระบาด COVID-19

การคัดกรองตนเองก่อนบริจาคโลหิต
1.คัดกรองและประเมินตนเองก่อนมาบริจาคโลหิต เพื่อความปลอดภัยของท่านและส่วนรวม
2.กรณีได้รับวัคซีน COVID-19 เว้น 7 วัน บริจาคโลหิตได้ กรณีมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน เมื่อหายแล้วให้เว้น 7-14 วัน บริจาคโลหิตได้
3.ผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 แต่ไม่แสดงอาการใดๆ งดบริจาคโลหิต 10 วัน หลังตรวจพบเชื้อ
4.ผู้ที่เสี่ยงสูง งดบริจาคโลหิต 5 วัน
5. ผู้ป่วยโควิด COVID-19 งดบริจาคโลหิต 14 วัน นับตั้งแต่หายป่วย ไม่มีอาการใดๆ หลงเหลืออยู่
6.กรณีติดเชื้อ COVID-19 ภายใน 7 วัน หลังบริจาค แจ้งหน่วยงานที่รับบริจาคโลหิตทราบทันที

นิยามของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ
-ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ได้สวมชุด PPE เมื่อสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย
-อยู่ใกล้/พูดคุยกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในระยะ 2 เมตร นานกว่า 5 นาที
-ผู้ป่วย ไอ จาม ใส่ โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย
-อยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทร่วมกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 นานกว่า 30 นาที
สามารถบริจาคโลหิตได้ที่ งานธนาคารเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เวลาเปิด-ปิดรับบริจาคโลหิต วันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 8.30 – 16.00 น. (ปิดพักเที่ยงวันที่ออกหน่วยรับบริจาคโลหิต) วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 8.30 – 16.00 น. (ปิดพักเที่ยง)


***** ผู้บริจาคโลหิตสามารถจอดรถได้บริเวณข้างอาคารศรีพัฒน์ด้านทิศตะวันออก


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ทนพญ.นิภาพรรณ ลี้ตระกูล
หัวหน้างานธนาคารเลือด
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
คณะแพทยศาสตร์ มช.


เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่