3 ธันวาคม วันคนพิการสากล เพื่อโอกาสในการเข้าถึงทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม

4 ธันวาคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการกำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสที่เท่าเทียมให้แก่ผู้พิการ ได้จัดให้มีการประชุมและอภิปรายถึงปัญหาและอุปสรรคที่คนพิการต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน เป็นวันที่ทำให้ได้ระลึกถึงบุคคลที่มีความพิการทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความพิการทางสมอง การมองเห็น การได้ยิน หรือความพิการทางการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ตระหนักและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคาร รวมถึงการช่วยเหลือกันในสังคม สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้พิการได้อย่างมีความสุข และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ความหมายของผู้พิการ คือ ผู้ที่มีสภาพร่างกายผิดปกติ ได้แก่ ระบบการทำงานของกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ในเรื่องของภาพลักษณ์ของร่างกาย เช่น แขนขาด ขาขาด โดยแบ่งความพิการ ออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่
1. ความพิการทางการมองเห็น
2. ความพิการทางการได้ยิน หรือการสื่อความหมาย
3. ความพิการทางการเคลื่อนไหวทางร่างกาย
4. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม
5. ความพิการทางสติปัญญา
6. ความพิการทางการเรียนรู้
7. ออทิสติก

วันคนพิการสากล มีความสำคัญอย่างไร ?
ในปี พ.ศ. 2525 องค์การสหประชาชาติ ได้สถาปนาให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็น "วันคนพิการสากล" เพื่อรำลึกถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2525 ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติได้รับรองแผนปฏิบัติการโลก ว่าด้วยเรื่องคนพิการ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ เฉลิมฉลองวันให้วันนี้ของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล โดยกระตุ้นการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดหัวข้อวันคนพิการในแต่ละปีด้วย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ศักดิ์ศรีและความยุติธรรมเพื่อคนทั้งมวล ทุกเรื่องคนพิการต้องมีคนพิการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คนพิการไม่ได้มีความต้องการอยากจะเป็นเหมือนคนปกติในทุกๆ เรื่อง แต่ขอเพียงให้มีระบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อคนพิการมากขึ้น รวมถึงการได้รับการยอมรับโอกาสในการทำงานหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกับคนทั่วไป

ในปัจจุบัน จำนวนประชากรคนพิการมีมากเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร ?
สถานการณ์คนพิการในขณะนี้ ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาประมาณ 2 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งในแต่ละปีมีคนพิการเพิ่มขึ้นประมาณ 90,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย ประมาณครึ่งหนึ่งมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ หรือโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke อัมพฤกษ์ อัมพาต แม้จะได้มีการรณรงค์ แต่จำนวนคนพิการไม่ได้ลดลง ด้วยเหตุที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โรคต่างๆ จึงตามมา ดังนั้น ความพิการจึงเหมือนเป็นเงาตามตัว
การรองรับในการดูแลผู้พิการสากลในปัจจุบันดีมากน้อยแค่ไหน ?
การรองรับในการดูแลผู้พิการสากลในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดีกว่าในอดีต คนพิการมีชีวิตแบบทัดเทียมอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ และสังคมเริ่มตระหนักว่า เมื่อมีการก่อสร้างอาคารใหม่ ควรปฏิบัติตามกฎหมายที่อำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ มีที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการหรือคนชรา ต้องจัดให้ใกล้ทางเข้าออกอาคารมากที่สุด มีพื้นผิวเรียบ มีระดับเสมอกัน และมีสัญลักษณ์รูปคนพิการนั่งวีลแชร์อยู่บนพื้นของที่จอดรถ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องการเดินทางและระบบขนส่งมวลชนยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนพิการในการเดินทางในยุคปัจจุบัน เนื่องจากความไม่เพียงพอของอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและการก่อสร้างทางเดินสำหรับคนพิการ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ จักรกริช กล้าผจญ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่