นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มช. พัฒนาวิธีใหม่ในการตรวจสารพิษอะฟลาทอกซิน สารก่อมะเร็ง เพื่อตอบโจทย์อาหารปลอดภัย

2 พฤษภาคม 2565

คณะวิทยาศาสตร์

             อะฟลาทอกซิน (Aflatoxins) เป็นสารพิษที่สร้างโดยเชื้อรา มักพบการปนเปื้อนในผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วลิสง กระเทียม หัวหอม ข้าว ข้าวสาลี เป็นต้น สารพิษ aflatoxins มีอยู่หลายชนิด เช่น aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ M1 ฯลฯ แต่ aflatoxin B1 มีความเป็นพิษสูง เป็นสารก่อมะเร็งได้ทั้งในคนและสัตว์ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการตรวจสอบการปนเปื้อนสารพิษนี้ในผลผลิตทางการเกษตรที่นำมาใช้เป็นอาหาร เทคนิคการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษอะฟลาทอกซิน ส่วนใหญ่ต้องใช้เครื่องมือทางเคมีขนาดใหญ่ที่มีราคาแพงและการใช้งานมีความซับซ้อน เช่น เครื่องโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง (HPLC) ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์นาน จึงทำให้มีข้อจำกัดในการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง

          ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มช. นำโดย รศ.ดร.จรูญ จักร์มุณี ดร.จำรัส เลิศศรี ดร.จันทร์ธิมา อุปัญญ์ ดร.ธาริณี ศรีดารา ดร.ชิดกมล ทูลคำรักษ์ นายวิศาล ชนันชนะ และนางสาวจิตราพันธ์ สูงทรง นักศึกษาปริญญาเอก ได้พัฒนาวิธีใหม่เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณ aflatoxin B1 ในตัวอย่างอาหารและอาหารสัตว์ โดยอาศัยการตรวจวัดสีที่เกิดจากปรากฎการณ์เชิงควอนตัมของอนุภาคนาโนทองคำ (AuNPs) และ อนุภาคเงินนาโน (AgNPs) ร่วมกับการใช้สารพันธุกรรมที่เรียกว่าแอพตาเมอร์ (aptamer) ที่เกิดการจับอย่างจำเพาะต่อสารพิษ aflatoxin B1 ทำให้เกิดเฉดสีที่มีความเข้มแปรผันตามปริมาณของอะฟลาทอกซินในระดับความเข้มข้นต่ำมาก ซึ่งสามารถอ่านผลการวิเคราะห์ด้วยตาเปล่า หรือใช้เครื่องวัดความเข้มสีเพื่อคำนวณหาความเข้มข้นที่แน่นอน งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ Sensors and Actuators B: Chemical ในปี 2020 (Q1 (ISI) Impact Factor 7.46) และ Food control 2021 (Q1 (ISI) Impact Factor 5.548)

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังได้พัฒนาวิธีหาปริมาณสารพิษ aflatoxin M1 ซึ่งเป็นเมทาบอไลท์ของ aflatoxin B1 ที่อาจพบการตกค้างในน้ำนมและผลิตภัณฑ์นม โดยใช้ aptamer ที่มีความจำเพาะกับ aflatoxin M1 งานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Food Composition and Analysis 2021 (Q1 (ISI) Impact Factor 4.556) วิธีที่พัฒนาขึ้นมีความจำเพาะและความไวสูง เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และราคาไม่แพง จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการใช้ตรวจเพื่อความปลอดภัยของอาหาร

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://doi.org/10.1016/j.snb.2020.128356
https://doi.org/10.1016/j.foodcont.2021.108323
https://doi.org/10.1016/j.jfca.2021.103992


รูปที่ 1 Graphical abstract ของวิธี colorimetric aptasensor สำหรับตรวจวัดปริมาณสารพิษ aflatoxin B1 โดยใช้อนุภาคนาโนทองคำ


รูปที่ 2 Graphical abstract ของวิธี colorimetric aptasensor สำหรับตรวจวัดปริมาณสารพิษ aflatoxin B1 โดยใช้ อนุภาคเงินนาโน





รูปที่ 3 Graphical abstract ของวิธี colorimetric aptasensor สำหรับตรวจวัดปริมาณสารพิษ aflatoxin M1 โดยใช้อนุภาคนาโนทองคำ



รูปที่ 4 ชุดทดสอบสำหรับตรวจวัดปริมาณสารพิษ aflatoxin B1 โดยใช้อนุภาคนาโนทองคำ



CR. ภาพประกอบ infographic จาก https://unsplash.com, https://www.freepik.com