มช. จับมือสาธารณสุขจังหวัดตรัง ร่วมพัฒนานำแอปพลิเคชั่น CMU Self Health Check เป็นต้นแบบช่วยภาคใต้

8 มิถุนายน 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (โควิด-19) ในประเทศไทยที่ส่งสัญญาณว่าจะมีแนวโน้มลดลง แต่กลับพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งและต้องอยู่ในการควบคุมอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำรอบสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ภาคใต้ที่ ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น





ภาพอ้างอิง https://www.thairath.co.th/event_corona


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดตรัง ร่วมกันปรึกษาหาแนวทางการนำแอปพลิเคชั่นเข้ามาใช้ในการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด โดยนำ แอปพลิเคชั่น CMU Self Health Check for COVID-19 แบบบันทึกสุขภาพโควิด19 สำหรับบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาเป็นต้นแบบในคัดกรองผู้ที่มีประวัติเดินทางเข้า - ออก ผ่านพื้นที่ชายแดนหรือการเดินทางข้ามเขตจังหวัดของประชาชนตามประกาศของกรมควบคุมโรค ในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยจะต้องทำการรายงานสุขภาพของตนเองติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน วันละ 1 ครั้ง ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ผ่านโปรแกรมเพื่อประเมินความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 กรณีมีอาการเข้าข่ายเกณฑ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระบบจะส่ง SMS แจ้งเตือนให้ทราบทันที พร้อมคำแนะนำและ link เชื่อมโยงแอปพลิเคชัน Doctor A-Z ผ่านระบบ Telemedicine ซึ่งจะมีกลุ่มแพทย์จิตอาสาที่ให้คำปรึกษาโดยตรง


การร่วมมือระหว่างคณะสาธารณสุขศาสตร์กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง เป็นการพัฒนาร่วมกันภายใต้ ชื่อ Trang Self Health Check application เนื่องจากจังหวัดตรังเป็นจังหวัดที่มีด่านเส้นทางการเข้า ออก เชื่อมไปยังประเทศมาเลเซียและจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นจุดคัดกรองที่ต้องตรวจอย่างเข้มงวด การทำงานผ่านระบบจึงมีการโอนชุดข้อมูลการลงทะเบียนหน้าด่าน เข้าสู่ระบบ Self Health Check แบบอัตโนมัติ และข้อมูลจะถูกส่งต่อไปยังพื้นที่กักตัว เช่น stage, local และ home เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ที่ต้องกักตัวและรายงานสุขภาพประจำวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเชื่อมต่อ API ระหว่างระบบการลงทะเบียนหน้าด่านของจังหวัดตรังและระบบ Self Health Check การพัฒนาระบบครั้งนี้เป็นการรวมข้อมูลหลายส่วน การแลกเปลี่ยนข้อมูล และความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทำให้ระบบมีขนาดใหญ่และต้องออกแบบให้รองรับหลายจังหวัด ตามบริบทพื้นที่และข้อจำกัดการใช้งานของแต่ละจังหวัด ซึ่งหากระบบสมบูรณ์แล้ว ก็จะนำไปเป็นต้นแบบใช้กับจังหวัดที่มีหน้าด่านอื่นๆ เช่น หาดใหญ่ สงขลา ต่อไป


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขอเป็นส่วนหนึ่งในการนำองค์ความรู้ผนวกกับผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นภาคไหนหรือพื้นที่ใดในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แม้ว่ามาตรการต่างๆ จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้เบาบางลง ส่งผลให้ภาพรวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมลดลง ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มในบางจังหวัด แต่การช่วยเหลือยังคงเดินหน้าต่อไปโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมหาวิทยาลัยมุ่งหวังว่าระบบ Self Health Check จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนให้สามารถประเมินเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกจนเกินไป ตลอดจนเป็นการลดภาระการทำงานของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มในที่สุด

แกลลอรี่