“ผู้บริหารคณะแพทย์ มช. สวัสดีปีใหม่ 2567” พร้อมโชว์ผลงานเด่นในรอบปี 2566 และการดำเนินงานในปี 2567

5 มกราคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

ผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ มช. นำโดย ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. และผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ อวยพรปีใหม่ 2567 พร้อมแถลงวิสัยทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มช. ในวาระครบรอบ 65 ปี สู่การเป็น “โรงเรียนแพทย์ในดวงใจ” เพื่อการยกระดับสุขภาวะของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ)นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “ในปี 2566 ที่ผ่านมามีการปรับปรุงอาคารต่างๆ ของคณะแพทยศาสตร์ มช. หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน “สุจิณฺโณ” ซึ่งขณะนี้ ได้ดำเนินการปรับปรุงเสร็จแล้วหลายชั้น และคาดว่าจะเสร็จทั้งหมดกลางปี 2567 หลังการปรับปรุงอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน “สุจิณฺโณ” จะเป็นอาคารผู้ป่วยที่มีความทันสมัยตามมาตรฐานสากล อีกทั้งมีการปรับปรุงห้องฉุกเฉินระบบ Digital ครบวงจร พร้อมกับการติดตั้งห้องสวนหัวใจ และห้องตรวจหัวใจ MRI ภายในห้องฉุกเฉิน มีการปรับปรุงในส่วนของห้องผ่าตัดชั้น 2 และชั้น 3 รวมถึงห้องคลอด และเริ่มดำเนินการปรับปรุงหอผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งโครงการที่กล่าวมาจะแล้วเสร็จทั้งหมดกลางปีหน้า ส่วนงานปรับปรุงที่ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ประกอบไปด้วย หอผู้ป่วยสังเกตอาการ, ห้องตรวจผู้ป่วยนอกจิตเวช, ห้องแรงดันลบ ณ อาคารนิมมานเหมินทร์, ห้องปลูกถ่ายไขกระดูก, ห้องผ่าชันสูตรศพ, ห้องแพทย์ทางไกล (Telemedicine) รวมถึงสวน 60 ปี สวนดอก ที่สร้างความสดชื่นให้กับผู้ป่วยและบุคลากรชาวสวนดอกอีกด้วย

ส่วนโครงการบ้านพักญาติผู้ป่วยสวนดอก ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก เริ่มเปิดให้บริการได้ประมาณ 2 ปี พบว่ามีญาติผู้ป่วยมารับบริการเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ญาติผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อการรับบริการระดับสูงมาก อีกทั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก ทำงานประสานงานกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในโครงการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จำนวนหลายครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามคำปฏิญาณของมูลนิธิในการช่วยเหลือสังคมในถิ่นทุรกันดาร

ในส่วนโครงการที่คณะแพทยศาสตร์ มช. จะได้ดำเนินการในปี 2567 จากมลภาวะ PM 2.5 ทางคณะฯ มีนโยบายที่จะทำให้อาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน “สุจิณฺโณ” เป็นอาคารนำร่อง ที่ทำระบบปราศจาก PM2.5 เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยเริ่มโครงการที่ชั้น 5 และจะขยายจนครบทุกชั้นในอนาคต
ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 ของคณะแพทยศาสตร์ มช. เราจะมีกิจกรรมต่างๆ มากมายที่จะเกิดขึ้นและเป็นไปตามคำสอนของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง” มุ่งสู่การเป็น “โรงเรียนแพทย์ในดวงใจ” ของประชาชนทุกท่าน ในโอกาสครบ 65 ปี ในครั้งนี้”

ด้าน ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้ก้าวเข้าสู่การเป็น “DIGITAL HOSPITAL” เพื่อช่วยสร้างความแม่นยำในการทำงานมากยิ่งขึ้น ได้แก่ โปรแกรม i-Suandok ซึ่งเป็น Line Application ,โปรแกรมการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล ในจังหวัดเชียงใหม่ ,โปรแกรม Telemedicine ,โปรแกรม นวัตกรรม Wheel-B : แพลตฟอร์มการจัดการโลจิสติกส์ การบอกตำแหน่งเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยใช้ชื่อว่า“อยู่ไหน 3 มิติ” Wheel-B ,โปรแกรม I-MATCH เป็นการเจาะเลือดให้ถูกที่ ถูกคน เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเจาะเลือดทุกครั้ง ,โปรแกรม I-TRANS โปรแกรมการให้เลือดให้ตรงผู้ป่วย ลดการให้เลือดผิดคน อาจทำให้เกิดการเข้ากันไม่ได้ของเลือดในการสแกนเช็คข้อมูลอีกครั้ง “ให้ถูกที่และถูกคน” และที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ผ่านการรับรองคุณภาพซึ่งได้รับการรับรองโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และสมาคมเวชสารสนเทศไทย (TMI) ในปี 2566 ด้านการรับรองคุณภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล ระดับที่ 2

ตลอดระยะเวลาปี พ.ศ.2566 ผลงานที่แสดงถึงความรู้ความชำนาญที่สำคัญ ได้แก่ การผ่านการรับรองระบบหรือรายโรค เพื่อรับรองความชำนาญรายโรคของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับการรับรองเพิ่มเติม 3 รายโรค ได้แก่ การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ การดูและทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม และการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ,ผ่านการรับรอง การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ Northern Sky Doctor หน่วยปฏิบัติการแพทย์ ระดับเฉพาะทางสาขาฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศ ,มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ ,เปิดให้บริการศูนย์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีแพทย์เฉพาะทางให้บริการ เป็นจุดบริการใหม่ รับประชาชนทั่วไปที่ต้องการเข้าใช้บริการรักษาได้ บริการทั้งหมด 8 ห้องตรวจ ,ได้รับรางวัลจาก Claim บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นรางวัลการใช้สินไหมอัตโนมัติดีเด่นหลักประกันด้านการคุ้มครองต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัยของประชาชนผู้ประสบภัยจากการใช้รถให้ได้รับการคุ้มครองดูแลและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ในปี 2567 นี้ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ยังมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะขอการรับรองความเชี่ยวชาญเฉพาะรายโรคอื่นๆ ได้แก่ การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อHIV, การรักษามะเร็งในช่องปาก , การเปลี่ยนข้อเข่า ,การรักษากระดูกสะโพกหัก ,การรักษามะเร็งปากมดลูก ,การรักษาภาวะซึมเศร้า ,การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และการฟื้นฟูสมรรถภาพในผู้บาดเจ็บไขสันหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ได้รุกหน้าต่อด้านโปรแกรม EMR-IPD โดยนำระบบดิจิทัลเข้ามาดูแลทั้งหมด และในอนาคตพร้อมขอการรับรองคุณภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาลระดับที่ 4 HA IT รวมถึงการขอการรับรองระบบการดูแลผู้ป่วยด้วยมิติจิตวิญญาณ การบริการได้เข้าถึงจิตวิญญาณผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าแพทย์และพยาบาลมีจิตวิญญาณในการดูแลและเข้าถึงผู้ป่วยอย่างแท้จริง เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในดวงใจ มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากล”

โดย…ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช.
และผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่