ICDI ผนึกนักวิชาการ มช.ผุดนวัตกรรม ป้องกันแรงงานจากชุมชนปลอดโควิด

6 สิงหาคม 2563

วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล

วิทยาลัยนานาชาติฯ(ICDI) มช. ร่วมกับ อสม. เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม การระบาดของโควิด-19ระยะที่ 2 สู่แรงงานจากชุมชน โดยใช้แอพพลิเคชั่นผ่อดี(PODD Application) ทำกิจกรรมต้นแบบ หวังฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน

ทั้งนี้ วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล (ICDI)มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นหน่วยงานจ้างงาน ภายใต้โครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะที่ 2 เพื่อทำกิจกรรมต้นแบบระบบเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้กับแรงงานจากชุมชน เพื่อทำงานในนิคมอุตสาหกรรม, สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน และภาคการท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่

จากการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ และ อุบัติซ้ำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในโลก การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศทั่วโลก เช่น ไวรัส COVID-19 ที่ระบาดในปัจจุบัน นับเป็นภัยคุกคามมวลมนุษยชาติด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ด้านสุขภาพที่ดีของประชากรโลก Good Health and Well-being) และ ด้านความมั่นคงทางอาชีพและเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth)

จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่มูลค่า ประมาณ 100,000 ล้านบาทก่อนวิกฤติโควิด-19 แล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ด้าน เกษตร อาหาร ฯลฯ รายได้จากภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี และรายได้จากภาคเกษตรกรรมคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี จึงกล่าวได้ว่าทั้งสองจังหวัดเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของ เศรษฐกิจในแนวใหม่ ที่จะนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง(BCG Economy)

หากมีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในโรงงานเกิดขึ้น อาจทำให้ต้องปิดโรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้โรงงานขาดโอกาสเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉพาะโรงงานเกษตรอาหาร ทั้งโรงงาน พนักงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจ( Value Chain )ขาดรายได้ ประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบด้วย ทั้งกลุ่มพนักงานด้วยกันเอง ครอบครัว หรือคนในชุมชนเดียวกันกับพนักงาน ส่งผลให้สุขภาพย่ำแย่ สูญเสียค่าใช้จ่ายเนื่องมาจากการรักษาพยาบาลเป็นมูลค่ามหาศาล คุณภาพชีวิตต่ำลง

ผศ.ดร. ณพศิษฎ์ จักรพิทักษ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติฯมช. กล่าวว่า โครงการนี้ มีผู้ร่วมงานหลายฝ่าย ได้แก่ ศ.ดร.พญ.ลักขณา ไทยเครือ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เป็นผู้ออกแบบระบบป้องกัน วิธีเฝ้าระวัง และการคัดกรอง โดยใช้แอปพลิเคชันผ่อดีดี (PODD Application) เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังโรคในคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการเพิ่มระบบการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 และ มี รศ.น.สพ.ดร.เลิศรัก ศรีกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมสุขภาพหนึ่งเดียว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันผ่อดีดี

นอกจากนี้ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติฯ กล่าวว่า จากการดำเนินงานมาแล้วเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยได้รับการสนับสนุนจากสาธารณสุขจังหวัด มอบให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ( อสม.)จำนวน 50 ตำบล ทำหน้าที่ผู้ช่วยวิจัย ในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน โดยใช้แอปพลิเคชัน PODD และ Line เป็นเครื่องมือ ในการดำเนินงาน อสม.ในพื้นที่ พบว่าทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบเกี่ยวกับการเกิดโรคระบาดในพื้นที่ ทราบและลงไปแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เช่น สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นต้น

โดย ทีม อสม. มีศักยภาพในการเข้าถึงกลุ่มประชาชนในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด ทำให้การสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ บุคคลที่มาจากพื้นที่เสี่ยง รู้เท่าทันต่อบุคคลแปลกหน้าที่มาในพื้นที่ ส่งผลดีต่อการเฝ้าระวังการระบาด ซึ่งปัจจุบัน พบโรคระบาดอื่นเพิ่มเติม เช่น โรคชิคุนกุนย่า โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดประจำฤดู เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารกันภายในกลุ่ม ทำให้เกิดการเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติตน การป้องกัน และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดี อีกด้วย

“ซึ่งผลสำเร็จของโครงการนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่แนวทางควบคุมป้องกันการระบาดได้อย่างเหมาะสม รวดเร็ว เพื่อรักษาฐานการผลิตนิคมอุตสาหกรรมลำพูนที่ทำรายได้มากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี และรายได้จากการท่องเที่ยวราว 100,000 ล้านบาทต่อปี”


แกลลอรี่