รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ พร้อมชมผลผลิตจากงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างสรรค์สู่ภูมิภาค จาก Startup พันธุ์ใหม่ในกิจกรรม NSP Flash Pitching Show

6 กันยายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

วันที่ 30 สิงหาคม 2562 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะผู้บริหารและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่รับฟังการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบทบาทในการพัฒนาภูมิภาค โดยร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางการนำองค์ความรู้สหสาขาของมหาวิทยาลัย อันประกอบด้วย สาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมและมนุษยศาสตร์ มาเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ จาก ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ห้องตะวัน กังวานพงศ์ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านควอนตัม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้นแบบและนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (deep technology) ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน เป็นรากฐานแกนกลางของการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกสาขาอย่างก้าวกระโดดในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ในอนาคต


ในช่วงบ่าย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ และคณะ พบคณะผู้บริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคเหนือ นำโดย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กว่า 50 ท่าน รวม 14 สถาบัน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ณ NSP Conference Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) เพื่อมอบนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ อววน. โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นแนวทางจัดการศึกษาตลอดจนให้บริการและส่งเสริมงานวิจัยต่าง ๆ ให้สอดรับกับการพัฒนายกระดับจังหวัด ภูมิภาค และประเทศชาติต่อไป จากนั้นรับฟังการนำเสนอแนวคิดประสานพลังจากกลุ่มมหาวิทยาลัย และภาพรวมการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะ แม่ข่ายดำเนินงาน


ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ และคณะ ให้เกียรติชมการนำเสนอนวัตกรรมสู่ภูมิภาค ผลผลิตนวัตกรรมสร้างสรรค์ จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ในกิจกรรม NSP Flash Pitching Show โดยนำเสนอผลงานความสำเร็จของผู้ประกอบการและเหล่า Startup พันธุ์ใหม่ ที่สร้างชื่อและช่วยยกระดับภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศจาก 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) University Startup ที่เติบโตจากนักศึกษา อย่าง กลุ่ม Startup ที่รู้จักในนาม Recute และ Startup เจ้าของไอเดีย Bio Bags, บริษัท ฮอร์แกไนซ์ จำกัด, บริษัท คอสเมเฮลท์ แชนเนล จำกัด 2) Startup ที่ใช้เทคโนโลยีในการช่วยพัฒนาระบบการศึกษา อย่าง บริษัท ฟีดแบค 180 จำกัด, บริษัท ไซแนปส์ (ประเทศไทย) จำกัด 3) ผู้ประกอบการและ Startup ที่ได้รับการเร่งศักยภาพ ยกระดับผ่านงานวิจัยหรือใช้บริการแพลตฟอร์มและโครงการต่าง ๆ จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ อย่าง บริษัท บี โปรดักส์ อินดัสตรี้ จำกัด, บริษัท ยู-เฮลธี จำกัด, บริษัท ทิวา อินโนเวท จำกัด, บริษัท กรีนไดมอน จำกัด, และ 4) นวัตกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงสังคม ได้แก่ บริษัท สยามโนวาส จำกัด, บริษัท ไทรส์ อีทีซี จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปลาส้มไร้ก้างแม่ทองปอน, บริษัท ไทยสตาร์นัท จำกัด, กมล อินดิโก้, บริษัท ธนพร ไรซ์มิลล์ จำกัด

ข้อมูลโดย : อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่