มช. จับมือ 7 มหาวิทยาลัยวิจัย ลงนามบันทึกความเข้าใจเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) ระยะที่ 3

20 กุมภาพันธ์ 2566

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

          เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) ระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

          ในการนี้ อธิการบดีและผู้แทนอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในเครือข่าย RUN ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย

  • ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคลอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
  • รองศาสตราจารย์ ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิง ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ
  • ดร.อัจฉริยา อักษรอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จของการดำเนินการของเครือข่าย RUN ในช่วงเวลาที่ผ่านมากกว่า 8 ปี ตั้งแต่พุทธศักราช 2558 - 2566 ภายใต้แนวคิดด้วยความจริงใจ ความเท่าเทียม และมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Sincerely, Equally, Excellently) หรือเรียกว่าหลักการ “SExY Way” จะเป็นมิติใหม่ของการวิจัยและต้นแบบให้แก่ประเทศอื่นๆทั่วโลก ที่แปลงวจีกรรมที่ว่า “มหาวิทยาลัยควรมีการทำงานร่วมกัน ให้เป็นกิจกรรมที่ทำได้จริง ดังเช่นตัวอย่างของการรวมตัวเป็นเครือข่าย RUN”

           RUN (Research University Network : RUN) เกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในการวิจัย พัฒนาศักยภาพ สร้างขีดความสามารถทางการศึกษา การวิจัยและพัฒนาของประเทศสู่ภูมิภาค โดยสร้างงานวิจัยจากโจทย์วิจัยที่มีความสำคัญต่อประเทศ ภูมิภาคและของโลกเป็นตัวตั้ง ด้วยความมุ่งมั่นว่างานวิจัยดังกล่าวจะตอบสนอง และเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคต อีกทั้งจะเป็นศูนย์กลางการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอาเซียน ภายใต้กรอบแนวความคิดการร่วมมือกันคือ การแบ่งปันทรัพยากรในการวิจัย (resource sharing) โดยเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย มุ่งพัฒนางานวิจัย ใน 6 คลัสเตอร์ คือ พลังงาน อาหารและน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วัสดุศาสตร์ สุขภาพ และอาเซียนศึกษา มีการแบ่งปันทรัพยากรในการวิจัย อาจารย์และนักวิจัย นิสิตนักศึกษาทุกระดับจนถึงหลังปริญญาเอก (Postdoc) เครื่องมือวิจัย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการบริหารงานวิจัย และร่วมกันสร้างโครงการวิจัยและวิเคราะห์ปัญหางานวิจัยร่วมกัน.


ข้อมูลจาก: สำนักงานบริหารงานวิจัย มช.
ภาพโดย : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข้อมูลโดย : สำนักงานบริหารงานวิจัย มช.
แกลลอรี่