หลงลืมบ่อยเป็นอัลไซเมอร์หรือไม่ ?

8 ธันวาคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

โรคสมองเสื่อม เป็นอาการที่บ่งบอกทางโรคที่กว้างมาก เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานของสมองลดลง และเสื่อมลง ซึ่งไม่สามารถฟื้นฟูให้สมองกลับคืนมาเป็นปกติได้ โดยหน้าที่ของสมองนั้น จะคอยควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหว การเข้าสังคม การใช้ภาษา และการควบคุมอารมณ์ ดังนั้นสมองทำหน้าที่ได้หลายอย่างนอกเหนือจากความจำ ดังนั้น โรคสมองเสื่อม คือการที่สมองทำงานลดลง ไม่จำเป็นต้องเกิดในส่วนของความจำก็ได้ และความจำเสื่อมจึงเป็นส่วนหนึ่งของโรคสมองเสื่อมเท่านั้น ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม พบได้ไม่บ่อย ส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ มักจะยังไม่มีอาการของโรค
โรคสมองเสื่อมในประเทศไทย มีจำนวน 8 แสนราย ซึ่ง 1 ใน 8 ของผู้สูงอายุวัยเกิน 60 ปี เป็นโรคสมองเสื่อม และ 62 เปอร์เซ็นต์ของโรคสมองเสื่อม คือโรคอัลไซเมอร์ และสมองเสื่อมนั้น ก่อให้เกิดโรคหลายโรคด้วยกัน เช่น เส้นเลือดสมองตีบ สมองเสื่อมอื่น ๆ สมองเสื่อมจากพาร์กินสัน สมองเสื่อมหลายชนิด เป็นต้น

 อัลไซเมอร์ คืออะไร ?
เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่เกิดการสะสมสารเคมีที่ผิดปกติบางอย่างในสมอง ซึ่งส่วนมากจะเป็นโปรตีนที่ผิดปกติ โดยปกติสมองจะพยายามกำจัดสิ่งผิดปกติออกไป แต่ผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์จะพบปัญหาการกำจัดสิ่งที่ผิดปกติของสารพิษในสมองได้ไม่ดีพอ และทำให้สารพิษค้างในสมองทำให้เซลล์เหล่านั้นค่อย ๆ ตาย จนสมองฝ่อและเหี่ยวในที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์
• ปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น
- เพศ เพศชายมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศหญิง
- เชื้อชาติ
- พันธุกรรม
• ปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
- โรคต่าง ๆ เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมัน
- การดื่มสุรา และแอลกอฮอล์ สิ่งเหล่านี้เป็นพิษต่อสมอง
- การสูบบุหรี่
- การขาดการออกกำลังกาย
- โรคซึมเศร้า
- การขาดการเข้าสังคม เมื่อได้เข้าสังคมก็ไม่ได้รับการฝึกสมอง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
- ภาวะอ้วนลงพุง

อาการหลงลืมแบบไหนเรียกว่าอัลไซเมอร์ ?
หากรู้ตัวว่าตัวเองมีอาการหลงลืม จะไม่เป็นอัลไซเมอร์ เพราะส่วนใหญ่ที่เป็นอัลไซเมอร์จะไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคอัลไซเมอร์ การเช็กอาการว่ามีอาการอะไรบ้างที่ชวนสงสัยว่าน่าจะมีอาการสมองเสื่อม การลืมที่ปกติ ที่ยอมรับได้ เช่น การลืมปากกา การลืมกุญแจ แต่การลืมที่ไม่ปกติที่ยอมรับไม่ได้ เช่น ลืมปิดเตาแก๊ส หากอาการหลงลืมเหล่านี้ ก่อให้เกิดอัคคีภัยขึ้นก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สินได้

การเช็กอาการสงสัยสมองเสื่อม
(หลง ลืม พฤติกรรมเปลี่ยน อารมณ์แปรปรวน)
- มีอาการหลงลืมในสิ่งที่ทำเป็นประจำ หรือทำซ้ำ ๆ
- หลงทาง หรือสับสนทิศทาง ในสถานที่ที่คุ้นเคยหรือไปเป็นประจำ
- ไม่สามารถจดจำใบหน้าของบุคคลที่สนิทกันหรือญาติพี่น้องที่อยู่ด้วยกันได้
- ไม่สามารถทำกิจกรรมหรือช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น การใช้จ่าย การอาบน้ำ การรับประทานอาหาร
- พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ไม่ดูแลตัวเอง หรือมีอารมณ์แปรปรวน เช่น ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย

ควรแนะนำผู้ป่วยพบแพทย์อย่างไรบ้าง ?
แนะนำให้ครอบครัว พาผู้ป่วยพบแพทย์ เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยในหลายมุมมองจากครอบครัวว่าผู้ป่วยเข้าข่ายเสี่ยงที่จะเป็นอัลไซเมอร์หรือไม่ ดีกว่าปล่อยให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ผู้เดียว แนะนำโดยใช้คำว่า “จะพาไปตรวจเช็กสุขภาพสมอง เพื่อตรวจการทำงานของสมอง หรือตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น”


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
ผศ.นพ.ชุติเทพ ทีฆพุฒิ
อาจารย์หน่วยประสาทวิทยา
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มช.


เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่