คณะแพทยศาสตร์ มช. จัดนิทรรศการเรื่อง “ข้อเข่าเสื่อม” เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ มช. เพื่อให้ความรู้และป้องกันเกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อมแก่ประชาชน

19 กุมภาพันธ์ 2567

คณะแพทยศาสตร์

ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มช. และรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ จัดนิทรรศการบริการวิชาการสู่ชุมชน 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ เรื่อง “ข้อเข่าเสื่อม” เพื่อให้ความรู้และป้องกันเกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อม และเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่คณะแพทยศาสตร์ มช. ครบรอบ 65 ปี ในวันจันทร์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ระหว่าง เวลา 09.00 – 12.00 น. ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยมี ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการบริการวิชาการสู่ชุมชน ครบรอบ 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ มช.

?ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ถือกำเนิดตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พศ.2502 ตามมติคณะรัฐมนตรีให้ตั้งโรงเรียนแพทย์ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พศ. 2499 คณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในส่วนภูมิภาค และเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่สามของประเทศไทย จึงนับเอาวันที่ 28 ตุลาคม ของทุกปี และเนื่องในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 คณะแพทยศาสตร์ มช. จึงได้จัดกิจกรรมต่างๆ ด้านการบริการวิชาการสู่สังคมมากมาย และในครั้งนี้ ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ ได้จัดกิจกรรมเรื่อง“ข้อเข่าเสื่อม” เพื่อให้ความรู้และป้องกันเกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อมขึ้น”

?ผศ.ดร.นพ.สักกาเดช ลิ้มมหาคุณ หัวหน้าภาควิชาภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “ โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยอันดับ 1 ใน 10 ของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ non-communicable diseases จากสถิติปี 2559 พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมประมาณ 6 ล้านคน และเมื่อมองในบริบทของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเข้ามาใช้บริการรักษาในห้องตรวจผู้ป่วยนอกโรคกระดูกและข้อมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้ป่วยที่มาใช้บริการห้องตรวจผู้ป่วยนอกโรคกระดูกและข้อทั้งหมด โดยมีจำนวนเฉลี่ยเกือบ 10,000 ราย ต่อปี


โรคข้อเข่าเสื่อมคือโรคที่เกิดจากกระดูกอ่อนของผิวข้อสึกกร่อนหรือร่อนลงไป ทำให้เกิดอาการปวดเข่า โดยมักจะมีอาการตึงในระยะแรก ในขณะที่นั่งคุกเข่า ไหว้พระ การงอเข่า และการขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะกระตุ้นทำให้เกิดโรคเสื่อมของเข่าได้ นอกจากนี้น้ำหนักตัวมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ในการส่งผลต่อข้อเข่า เมื่อวัย 40 ขึ้นไปมักจะมีอาการปวด-เสียว-แปล๊บ หรือตึงบริเวณหน้าเข่า ซึ่งเป็นอาการเริ่มแรกของอาการข้อเข่าเสื่อม และนอกจากนี้สาเหตุอื่นๆได้แก่ อุบัติเหตุ กระดูกหัก เส้นเอ็นข้อเข่าที่ทำให้เกิดฉีกขาด เกิดจากตัวของผู้ป่วยเอง กรรมพันธุ์ หรือเกิดจากการที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่นผู้หญิง บุคคลที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่ใช้ข้อเข่าผิดๆตั้งแต่วัยทำงานจนกระทั่งอายุ 50 ปีขึ้นไปจะเริ่มมีอาการข้อเข่าเสื่อม ดังนั้นภาควิชาออร์โทปิดิกส์ จึงได้ตระหนักถึงโรคข้อเข่าเสื่อม โดยได้จัดให้มีการแสดงนิทรรศการเนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อตระหนักถึงอาการโรคข้อเข่าเสื่อมและวิธีการรักษา เสริมสร้างพฤติกรรมการออกกำลังกายเพื่อป้องกันและรักษาโรคข้อข้อเข่าเสื่อม สร้างความมั่นใจแก่ผู้ป่วย และสร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม และให้ผู้ป่วยทราบวิธีการดูแลรักษาข้อเข่าเทียมให้ใช้ได้ยาวนาน”?

ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วย บอร์ดนิทรรศการ เกี่ยวกับข้อเข่าเสื่อม ตั้งแต่วันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 2567 และพิธีเปิดได้จัดขึ้นในวันจันทร์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ระหว่าง เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีการจัดการแสดงการออกกำลังกายบริหารข้อเข่าโดยนักกายภาพบำบัด ภาควิชาออร์โทปิดิกส์

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับข้อเข่าเสื่อมโดยทีมวิทยากร ในหัวข้อเรื่อง โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากอะไร มีวิธีการรักษาเบื้องต้นและป้องกันอย่างไร โดย ผศ.นพ.วรากร จริงจิตร ,เคล็ดลับการบริหารข้อเข่าในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม โดยคุณสุรีพร พรหมแพทย์ ,ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดย ผศ.ดร.นพ.สักกาเดช ลิ้มมหาคุณ ,ข้อปฏิบัติตัวในการดูแลรักษาข้อเข่าเทียมให้ใช้ได้ยาวนาน โดย ผศ.นพ.กสิสิน กลั่นกลิ่น และมีกิจกรรมออกบูธตรวจคัดกรองข้อเข่าเสื่อม โดยทีมแพทย์เฉพาะทางโรกกระดูกและข้อ นอกจากนี้ยังมีบูธให้บริการคัดกรองโรคข้อเข้าเสื่อม บูธให้คำปรึกษาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด บูธให้คำปรึกษาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน และบูธให้คำปรึกษาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอีกด้วย

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่