มช. – สาธารณสุขเชียงใหม่ ย้ำผลวิจัย สองเข็มไม่ป้องกันการติดโอมิครอน แนะเร่งฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้สูงถึง 98%

8 มีนาคม 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

ผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เปรียบเทียบช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า กับ สายพันธุ์โอไมคร่อน เป็นหลักในเชียงใหม่

        ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ ดร.กรรณิการ์ อินต๊ะวงศ์ อาจารย์ประจำ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม หัวหน้าทีมสอบสวนโรค และคณะ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ในสังกัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว.) ได้ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยโควิดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อศึกษาหาประสิทธิผลของวัคซีนต่อการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตด้วยโรคโควิด อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ต่อเนื่องมาจนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยดึงข้อมูลของผู้ป่วยโรคโควิดที่ได้รับการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เปรียบเทียบกับผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเดินทางไปในสถานที่เสี่ยงที่พบการแพร่ระบาด เช่น ตลาด หรือร้านอาหาร หรือในครอบครัว เป็นต้น แต่มีผลตรวจเป็นลบ เพื่อคำนวณหาประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตในผู้ป่วยจากโรคโควิดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้เคยแถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ตอนสิ้นเดือนมกราคม 2565

       ผลจากการศึกษาเพิ่มเติม พบว่า ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2565 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR หรือ ATK เป็นผลบวก ที่ติดเชื้อในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 15,961 ราย เป็นการระบาดของสายพันธุ์โอไมคร่อน ประมาณ 70-80% และสายพันธุ์เดลต้าประมาณ 20-30% มีผู้เสียชีวิต 17 ราย คิดเป็น 0.11% โดย 13 ราย (76.5%) เป็นผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไปและส่วนใหญ่มักจะมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย ประมาณ 64% ของผู้เสียชีวิต ไม่มีประวัติได้รับวัคซีนป้องกันโควิดมาก่อน ประมาณ 24% ได้รับวัคซีน 2 เข็ม และ 12% ได้รับวัคซีน 1 เข็ม ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนผู้ป่วยโรคโควิดสูงขึ้นเป็น 58,106 ราย โดยสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรน่า มากกว่า 95% ที่ส่งตรวจเป็นสายพันธุ์โอไมคร่อน มีผู้เสียชีวิตที่ติดตามมาถึงวันที่ 7 มีค 2565 จำนวน 22 ราย คิดเป็น 0.04% โดย 20 ราย (91%) เป็นผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไปและส่วนใหญ่มักจะมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย ประมาณ 63.6% ของผู้เสียชีวิต ไม่มีประวัติได้รับวัคซีนป้องกันโควิด ประมาณ 31% ได้รับวัคซีน 2 เข็ม และ 5% ได้รับวัคซีน 1 เข็ม จากการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยโรคโควิดที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในเชียงใหม่ ตั้งแต่ตุลาคม 2564 จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จำนวนกว่า 8,000 ราย

       ในจำนวนนี้ ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดส่วนใหญ่จะไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฯกว่า 76% และที่สำคัญยังไม่พบผู้ป่วยโควิดสูงอายุที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบ 3 เข็มหรือ 4 เข็ม เกิน 14 วันหลังฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายที่ป่วยเป็นโรคโควิดแล้วมีการเสียชีวิตแม้แต่รายเดียวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังพบว่า ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 ซึ่งสายพันธุ์หลักเป็นเชื้อเดลต้า มีอัตราการเสียชีวิตที่ 0.81% (156/19,215) แต่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งสัดส่วนการระบาดของโรคโควิดจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสายพันธุ์เดลต้าไปเป็นสายพันธุ์โอไมคร่อนในช่วงกลางมกราคมถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยมีอัตราการเสียชีวิตที่ 0.05% (39/74,067) ซึ่งอัตราการเสียชีวิตลดลงกว่า 16 เท่าในช่วงโอไมคร่อนระบาดเมื่อเทียบกับช่วงที่สายพันธุ์เดลต้าระบาดเป็นหลักในจังหวัดเชียงใหม่

        เมื่อวิเคราะห์หาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด โดยวิเคราะห์เฉพาะผู้ป่วยโควิดเปรียบเทียบกับกลุ่มสัมผัสที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและเป็นคนไทย ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ในช่วงเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม 2564 ซึ่งเชื้อฯหลักที่ระบาดจะเป็นสายพันธุ์เดลต้า ผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวน 2 เข็ม มากกว่า 14 วันขึ้นไป สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อฯได้เฉลี่ย 71% ในวัคซีนทุกสูตร ส่วนวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อได้สูงประมาณ 93% ในวัคซีนทุกสูตร รวมถึงวัคซีนสูตรไขว้ 2SV 1AZ และ 1SV 2AZ และที่สำคัญคือ วัคซีนช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้มากกว่า 97% ในผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม และ 99% ในผู้รับวัคซีน 3 เข็ม

         แต่เมื่อติดตามวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีน ในช่วงเดือนมกราคม 2565 ซึ่งการระบาดในพื้นที่เชียงใหม่โดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะช่วงครึ่งเดือนหลัง มากกว่า 70-80% จะเป็นสายพันธุ์โอไมคร่อน อีก 20-30% เป็นสายพันธุ์เดลต้า พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม จะไม่มีผลต่อการป้องกันการติดเชื้อฯได้เหมือนช่วง ตค-ธค 64 แต่ยังช่วยลดการตายได้กว่า 93% แต่หากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือฉีดเข็มที่ 3 ยังสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณ 68% (ระหว่าง 62%-78%) และยังช่วยลดการตายได้ดีมากถึง 98% และเมื่อติดตามวิเคราะห์ประสิทธิผลของวัคซีนต่อเนื่องมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงมากขึ้นกว่า 3.6 เท่าเทียบกับเดือนมกราคม 2565 และจากการส่งตรวจหาสายพันธุ์ในเดือนกุมภาพันธ์พบว่ามากกว่า 95% เป็นโอไมคร่อนเป็นหลัก การวิเคราะห์หาประสิทธิผลของวัคซีนพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม จะไม่มีผลต่อการป้องกันการติดเชื้อฯได้ ยกเว้นเมื่อแยกวิเคราะห์ในเด็กอายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีน PZ จำนวน 2 เข็ม พบว่า แม้จะเป็นสายพันธุ์โอไมคร่อนเป็นหลัก ก็ยังพอช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ประมาณ 32% เทียบกับเด็กวัยเดียวกันที่ไม่ได้วัคซีน อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีน 2 เข็มยังช่วยลดการตายได้กว่า 85% แต่ในผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือฉีดเข็มที่ 3 ความสามารถในการช่วยป้องกันการติดเชื้อลดลงไปอยู่ที่ 45% (ระหว่าง 39%-50%) และยังช่วยลดการตายได้ดีมากถึง 99% ส่วนในผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวน 4 เข็ม ซึ่งมีจำนวนไม่มาก พบว่ามีความสามารถป้องกันการติดเชื้อได้สูง 82% (ระหว่าง 75%-87%)

       เมื่อวิเคราะห์ชนิดของสูตรวัคซีน 3 เข็ม ต่อการป้องกันการติดเชื้อ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ทุกสูตรหลักที่มีการใช้ในประเทศไทย ได้ผลไม่แตกต่างกัน อยู่ที่ประมาณ 36% ถึง 64% รวมถึงสูตร 2SV 1AZ และ 1SV 2AZ ที่เป็นสูตรไขว้ และวัคซีนสูตรไขว้กับ mRNA เช่น 2AZ 1PZ หรือ 2SV 1PZ ที่มีการใช้ค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมาในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาประสิทธผลของวัคซีนป้องกันโควิดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ และอิสราเอล ที่ใช้วัคซีนขนิด mRNA เป็นหลัก ที่พบว่าวัคซีน 2 เข็ม ไม่ช่วยในการป้องกันการติดเชื้อ ส่วนวัคซีน 3 เข็ม สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ 50-75% และช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ 85-99% ที่เพิ่งจะเผยแพร่ออกมาในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งใกล้เคียงกันกับผลการศึกษาในครั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดเชียงหใม่ที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอใคร่อนส่วนใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เช่นกัน

        จากผลการศึกษาดังกล่าว จึงควรเร่งรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังร่วมด้วย ทั้งนี้วัคซีนสูตร 3 เข็มทุกชนิดที่กำหนดให้ใช้ในประเทศไทยยังพอมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีระดับหนึ่งแม้จะเป็นสายพันธุ์โอไมคร่อนที่ระบาดเป็นหลักในประเทศไทยในปัจจุบัน แต่ที่สำคัญคือช่วยป้องกันอาการรุนแรงและการตายได้ค่อนข้างสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย SV หรือวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ AZ หรือ mRNA ก็มีประสิทธิผลในการป้องกันไม่แตกต่างกัน รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและไม่มีข้อห้ามในทางการแพทย์ ก็ควรเร่งให้เข้ามารับการฉีดวัคซีนโดยเร็วโดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย หรือคนหนุ่มสาววัยทำงานที่มีผู้สูงอายุอาศัยร่วมอยู่ในครอบครัว จะได้ลดโอกาสการติดเชื้อและป้องกันไม่เอาเชื้อไปแพร่ต่อผู้สูงอายุในบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงในกลางเดือนแมษายน ทั้งนี้ยังต้องดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการการป้องกันตนเอง ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ๆ โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดเชียงใหม่จะค่อย ๆ ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

แกลลอรี่