เช็คความเสี่ยง มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน

28 มิถุนายน 2566

คณะแพทยศาสตร์

จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกแจ้งว่า ในปี 2020 อุบัติการของผู้ป่วยมะเร็งในประเทศต่างๆทั่วโลกคาดการณ์ว่า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย (Leukemia) มีประมาณ 7 ใน 1 แสนประชากร เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกับประชากรของประเทศไทยประมาณ 60-70 ล้านคน จะอยู่ที่ประมาณเกือบ 5 พันคน ต่อปี นับว่าไม่น้อยสำหรับในเรื่องของมะเร็ง นอกจากนี้มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยทั่วไปพบในวัยกลางคน เฉลี่ยประมาณ 40-50 ปี จากสถิติในประเทศไทยเฉลี่ยที่อายุ 55 ปี


มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันคืออะไร
มะเร็งเม็ดเลือดขาว เรียกอีกอย่างว่า ลิวคีเมีย (Leukemia) ชนิดเฉียบพลัน
เกิดจากการเพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติของเซลล์ตัวอ่อนเม็ดเลือดขาวในกระดูก เซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติในไขกระดูก จะส่งผลทำให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดที่ปกติ มีปริมาณลดลง


มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน มีอาการอย่างไร
-มีภาวะซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
-เลือดออกผิดปกติ
-มีไข้สูง ติดเชื้อง่าย


สาเหตุมะเร็งเม็ดเลือดขาว
-เกิดจากการกลายพันธุ์ของ DNA ของเม็ดเลือดขาว ที่อยู่ในไขกระดูก และปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการกลายพันธุ์ของ DNA ของเม็ดเลือดขาว
-การสัมผัสสารเคมีเป็นเวลานาน และพันธุกรรมมีแนวโน้มเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ
-เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์เม็ดเลือดขาวต้นกำเนิดในไขกระดูก
-จากผลเลือดยังไม่สามารถวินิจฉัยยืนยันแน่ชัดได้ ต้องทำการเจาะไขกระดูกเพื่อส่งตรวจเพิ่มเติม


การตรวจรักษา
เมื่อมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เลือดออกผิดปกติ ผู้ป่วยมีไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิน 1 สัปดาห์ โดยทั่วไปแพทย์ให้การการตรวจเลือด ซึ่งการตรวจเลือดจะเป็นการตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count, CBC) เป็นการตรวจเม็ดเลือดที่สร้างมาจากไขกระดูก 3 ชนิด คือเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด โดยข้อมูลของการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจะสามารถบ่งชี้ได้ว่าเม็ดเลือดขาวมีปริมาณที่ผิดปกติ เช่นสูงมากผิดปกติ มีลักษณะที่เป็นตัวอ่อนหรือไม่ หากเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน จะมีเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยเบื้องต้นสรุปได้ว่า เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน รวมถึงการตรวจวินิจฉัยด้วย CBC ก็สามารถบ่งชี้ถึงความรุนแรงของโรคได้ขั้นต้น เช่น เม็ดเลือดแดงมีปริมาณลดลงมาก แสดงถึงภาวะโลหิตจางมาก อาจต้องมีการให้เลือดเพื่อลดความอ่อนเพลีย ซีด หรือเหนื่อยง่าย รวมถึงปริมาณของเกล็ดเลือด หากมีปริมาณต่ำเกินไปจะทำให้เลือดออกผิดปกติและอันตรายถึงชีวิตได้


เมื่อตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแล้ว บ่งชี้ว่าเป็นกลุ่มของมะเร็งเม็ดเลือดขาวจริง แพทย์จะทำการตรวจบริเวณไขกระดูก เพื่อหาตำแหน่งสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดตัวอ่อนที่สงสัย ถึงลักษณะเหมือน CBC หรือไม่ และนำส่งตรวจเพิ่มเติมต่อได้ เพื่อหาความเสี่ยงของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันต่อไป
***หลังจากมีข้อบ่งชี้ของความผิดปกติทาง CBC ร่วมกับอาการที่เข้าข่ายของโรค แพทย์จะทำการนำเข้าสู่การตรวจไขกระดูก เพื่อเป็นการยืนยันโรค


ขั้นตอนการเจาะกระดูก ทำอย่างไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไร
-จัดท่านอนคว่ำ แพทย์จะทำการฉีดยาชา แล้วใช้เข็มเจาะตรวจบริเวณกระดูกบั้นเอว
-จะมีอาการเจ็บบ้างเล็กน้อยขณะฉีดยาชา และมีอาการเจ็บเสียวๆ ขณะแพทย์กำลังดูดไขกระดูก
-มีประโยชน์ เพื่อใช้ยืนยันการวินิจฉัยประเมินความรุนแรงเพื่อใช้ในการวางแผนการรักษา


วิธีการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน และมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรัง มีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน โดยการรักษาแบบเรื้อรัง จะมีวิธีการรักษา 2 ชนิด คือ
1.ยารับประทาน เรียกว่ายามุ่งเป้า เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยรบกวนการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
2.ให้ยาเคมีบำบัดอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นการให้ยาซึ่งมีฤทธิ์ทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อร้าย


การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน
-หากไม่รีบรักษามีโอกาสเสียชีวิตภายใน 3-6 เดือน หลังการวินิจฉัย
-ให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง สำหรับผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 60-65 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัว
-มีโอกาสทำให้โรคสงบได้สูงถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์และรอให้ไขกระดูกฟื้นตัว


ผู้ป่วยอายุมาก จะทำการรักษาอย่างไร
-กรณีผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี หรือมีโรคประจำตัว
-จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิตสูง จากการให้ยาเคมีบำบัด
-รักษาแบบประคับประคอง ให้เลือด หรือเกล็ดเลือด ตามที่แพทย์เห็นสมควร
เมื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่


ในปัจจุบันสามารถทำให้หายขาดได้ แต่วิธีการทำให้การรักษาหายขาดไม่ได้เกิดจากการให้ยาเคมีบำบัดแค่ครั้งเดียว การรักษาโรคในปัจจุบันสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องอาศัยระยะเวลาการรักษาหลังจากให้ยาเคมีบำบัดขนาดที่ 1 เรียกว่าเป็นการให้เคมีบำบัดหรือการประคองโรค ให้สงบยาวนาน การประคองโรคให้สงบยาวนานที่ดีที่สุด ในปัจจุบันคือการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเสต็มเซลล์ หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก


ด้วยวิธีการทำให้โรคสงบได้ด้วยยาก่อน เพื่อให้มีพื้นที่ของไขกระดูกในการรับเสต็มเซลล์ผู้บริจาค และการให้ยาเคมีบำบัด การนำไปสู่การปลูกถ่ายเสต็มเซลล์เพื่อนำไปสู่การหายขาด หลังจากนั้นจะทำการตรวจเสต็มเซลล์ของผู้ป่วยเอง ว่ามีลักษณะเสต็มเซลล์ของผู้ป่วยเป็นแบบไหน เพื่อในอนาคตจะได้นำไปหาเสต็มเซลล์ของผู้บริจาค ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นญาติ พี่น้องที่มาจากพ่อแม่สายเลือดเดียวกันหรือในเครือญาติ หรือมาจากผู้บริจาคให้กาชาด ที่มีการบริจาคเสต็มเซลล์ให้ โอกาสที่ผู้ป่วยจะหายขาดสูงมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์


ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา
-ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ติดเชื้อ เกล็ดเลือดต่ำ ซีด
-มีทีมแพทย์ พยาบาลที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ดูแลสถานที่ปลอดเชื้อที่มีแผ่นกรอง HEPA filter เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
-หลังการรักษา จะมีการเจาะไขกระดูกเพื่อตรวจซ้ำ เพื่อประเมินโรคว่าเข้าสู่ภาวะสงบหรือไม่
-หากสงบยังต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยยาเคมีบำบัด การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด(ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือปลูกถ่ายสเต็มเซลล์) เพื่อควบคุมโรคไม่ให้กลับเป็นซ้ำ


ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร
-ผู้ป่วยต้องรักษาความสะอาด เพื่อไม่ให้ติดเชื้อ
-รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และสุก สะอาด เพื่อให้เม็ดเลือดฟื้นตัว และลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด
-ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก:ผศ.นพ.ธนาวัฒก์ รัตนธรรมเมธี อาจารย์ประจำหน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.


เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่