“คืนไหนไม่รดที่นอนคือความภูมิใจ: ร่วมเข้าใจหัวใจเด็กที่กำลังเติบโต”
ภาวะปัสสาวะรดที่นอน (Nocturnal Enuresis) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะในช่วงวัยก่อนเข้าเรียน เด็กส่วนใหญ่จะหยุดปัสสาวะรดที่นอนได้เองเมื่ออายุประมาณ 5 ปี อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กประมาณ 15% ที่ยังคงมีอาการอยู่ ซึ่งมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อโตขึ้น
ภาวะนี้สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ปกครองคือ ต้องเข้าใจและไม่ตำหนิเด็ก เพราะนี่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา
สาเหตุของการปัสสาวะรดที่นอน
การปัสสาวะรดที่นอนอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย และในบางรายอาจมีมากกว่าหนึ่งสาเหตุร่วมกัน เช่น
1. ความผิดปกติของฮอร์โมนที่ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ
2. ขนาดกระเพาะปัสสาวะเล็กกว่าปกติ
3. ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อย
4. เด็กนอนหลับลึกเกินไปจนไม่รู้ตัวเมื่อต้องการปัสสาวะ
5. ท้องผูกเรื้อรัง
6. การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
7. พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเคยมีภาวะนี้มาก่อน
8. ความเครียดหรือความวิตกกังวล
9. ภาวะทางระบบประสาท เช่น โรคลมชัก
แนวทางการดูแลและการรักษา
หากเด็กมีอายุเกิน 5 ปีแล้วยังมีอาการ ควรเริ่มจากการปรับพฤติกรรม โดยมีแนวทางดังนี้:
• ให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะที่เป็นอย่างเหมาะสม
• สร้างแรงจูงใจ เช่น การให้ดาวหรือรางวัลเล็ก ๆ เมื่อไม่มีอาการ
• หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือทำให้เด็กอับอาย
• สนับสนุนให้เด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการรักษา
• ดื่มน้ำให้เพียงพอในช่วงกลางวัน (วันละ 6–8 แก้ว)
• งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม
• หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนนอนประมาณ 1 ชั่วโมง
• ไม่ควรรับประทานของว่างก่อนนอน
• ลดการใช้หน้าจอก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
• เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนนอน
• นอนให้ตรงเวลาและพักผ่อนให้เพียงพอ
• ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา และดูแลไม่ให้ท้องผูก
หากทำตามแนวทางเหล่านี้ต่อเนื่อง 1–2 เดือนแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อประเมินเพิ่มเติม แพทย์อาจพิจารณาการรักษาเพิ่มเติม เช่น
• ยาที่ลดปริมาณปัสสาวะในตอนกลางคืน
• อุปกรณ์ปลุกเตือนเมื่อมีการปัสสาวะรดที่นอน
• ยาลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
• ยารักษาภาวะซึมเศร้าในบางราย
• การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ หากจำเป็น
ความร่วมมือของแพทย์หลายสาขาเพื่อการดูแลที่เหมาะสม
ชมรมปัสสาวะรดที่นอนแห่งประเทศไทย (Nocturnal Enuresis Society of Thailand – NEST) ซึ่งประกอบด้วยทีมแพทย์จากหลายสาขา ได้แก่ ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ กุมารแพทย์โรคไต กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม และจิตแพทย์เด็ก ได้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการดูแลเด็กที่มีภาวะปัสสาวะรดที่นอน ประจำปี 2567 เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะเด็กแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Association of Pediatric Urologist – APAPU) ยังมีกำหนดจัดการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 25 ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 2–4 ตุลาคม พ.ศ. 2568 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านโรคระบบทางเดินปัสสาวะในเด็ก รวมถึงภาวะปัสสาวะรดที่นอน
??ภาวะปัสสาวะรดที่นอนในเด็กเป็นเรื่องที่รักษาได้ หากเข้าใจและให้ความสำคัญอย่างเหมาะสม การดูแลอย่างเข้าใจโดยไม่ตำหนิจะช่วยให้เด็กมีความมั่นใจและสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น อย่าลังเลที่จะขอคำแนะนำจากแพทย์ เพราะการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธีจะช่วยให้เด็กก้าวข้ามช่วงเวลานี้ได้อย่างมั่นใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.นพ.จรัสพงศ์ วุฒิวงศ์ และรศ.นพ.พิษณุ มหาวงศ์
อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช. #หมอสวนดอก #โรงพยาบาลสวนดอก #Medcmuในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedcmu #ปัสสาวะรดที่นอน