STeP เผยเคล็ดลับสร้างบ่มเพาะธุรกิจ กว่าจะเป็นนักปั้นสตาร์ทอัพรางวัลระดับเอเชีย

12 มีนาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

ในยุคที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจ หน่วยงานหรือองค์กรใหม่ๆ จึงเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการเพิ่มสร้างศักยภาพผู้ประกอบการเดิมที่มีอยู่ รวมไปถึงการสร้างผู้ประกอบการใหม่หรือทีเรียกว่า Startup ซึ่งเป็นแนวคิดธุรกิจแบบใหม่ที่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาของมนุษย์ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการและตอบโจทย์ต่อผู้บริโภคหรือผู้รับบริการให้มากยิ่งขึ้น

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Science and Technology Park Chiang Mai University) หรือที่รู้จักกันในชื่อ STeP ได้สร้างผลงานปั้นผู้ประกอบการธุรกิจที่มีคุณภาพสู่วงการได้มากกว่า 200 ราย ซึ่งนับเป็นหน่วยงานสังกัดภาคการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีกลไกการให้บริการที่หลากหลายในการผลักดันงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งครอบคลุมถึงการทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน  การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี  การถ่ายทอดเทคโนโลยี  การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์เทคโนโลยี  การออกแบบนวัตกรรม  การให้บริการห้องปฏิบัติการและเครื่องมือปฏิบัติการ  การให้บริการโรงงานต้นแบบเทคโนโลยี พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ผสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการให้บริการ รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงทำให้อุทยานฯ ได้รับบทบาทหน้าที่สำคัญในการเป็นแม่ข่ายดำเนินงานและบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือในฐานะผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมแก่ภาคเอกชน

ด้วยการนำของ 2 หัวเรือใหญ่อย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการฯ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการฯ ที่ช่วยวางรากฐานการทำงานของทีมและการให้บริการบ่มเพาะธุรกิจที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาแนะนำวางแผนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการ ให้คำปรึกษาเรื่องแหล่งเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน การสร้างโอกาศทางธุรกิจ (Business matching) ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและทรัพย์สินทางปัญญา แนะนำการวางแผนดำเนินธุรกิจพร้อมการออกแบบบรรจุภัณฑ์และการสร้างแบรนด์สินค้า การเสริมสร้างศักยภาพความสามารถของผู้ประกอบการ รวมไปถึงพื้นที่ทำงาน (Startup Office) สำหรับธุรกิจหลากหลายขนาดภายในพื้นที่อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งแวดล้อมด้วยระบบนิเวศที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม อีกทั้งยังมีการติดตามและวัดผลพัฒนาการในการเร่งพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของภาคเอกชน พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ให้และผู้รับบริการ รวมไปถึงการแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานบ่มเพาะธุรกิจกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขกลยุทธ์และวิธีการให้บริการที่สอดรับกับนโยบายภาครัฐและความต้องการของภาคเอกชนอยู่เสมอ จึงทำให้อุทยานฯ เข้าไปอยู่ในใจของภาคเอกชนที่อยากร่วมพัฒนาศักยภาพและบ่มเพาะธุรกิจด้วย

ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ปี 2557) อุทยานฯ ได้จุดประกายฝันแก่ผู้ประกอบการ อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสู่การเป็นสตาร์ทอัพในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้สนใจร่วม Pre-Incubation Programe กับอุทยานฯ ถึง 325 ราย และสามารถปั้นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (Startup) ผ่านการบ่มเพาะธุรกิจได้มากกว่า 50 ราย แบ่งเป็นด้านอุตสาหกรรมไอที ซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนต์ (IT Software and Digital Content) อุตสาหกรรมด้านการแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ (Medical and Bio – Technology อุตสาหกรรมด้านการเกษตรและอาหาร (Agriculture and Food) และอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมวัสดุ (Energy Technology and Material) ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าทั้งหมดนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมได้มากถึง 653 ล้านบาท


จากผลงานที่โดดเด่นจึงทำให้อุทยานฯ ได้รับรางวัล Incubator แห่งปีของประเทศไทย ในปี 2562 พร้อมได้รับการเสนอชื่อจากสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai Business Incubators and Science Park Association : Thai – BISPA) เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน Incubator แห่งปีในระดับเอเชีย และคว้ารางวัลระดับเอเชีย Winner of AABI Incubator of the year (2019) Award ร่วมกับ Hong Kong Science and technology park Corporation (ประเทศฮ่องกง) และ China IoT International Innovation Park (สาธารณรัฐประชาชาชนจีน) ซึ่งสร้างความภูมิใจให้กับวงการนักปั้นสตาร์ทอัพสำหรับภาคการศึกษา และเป็นแรงผลักดันให้ทีมบ่มเพาะธุรกิจของอุทยานฯ พัฒนาผลงานเพื่อสร้างสรรค์บริการที่ดียิ่งขึ้นต่อไป



แกลลอรี่