ท้องร่วง ท้องเสีย ดูแลตัวเองอย่างไร

15 มิถุนายน 2566

คณะแพทยศาสตร์

ท้องร่วง ท้องเสีย เป็นอาการใกล้ตัวที่พบได้บ่อย ตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งโต อาจเกิดจากการรับประทานอาหารบูด อาหารค้างในตู้เย็น อาหารหมดอายุ หรือบางรายมีอาการจากการรับประทานพิษของเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในอาหาร ซึ่งมักพบในกลุ่มคนที่รับประทานอาหารร่วมกันและมีอาการพร้อมกันหลายคน


ท้องร่วง ท้องเสียเป็นโรคที่ใกล้ตัว และพบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน การดูแลตนเองจึงเป็นการรักษาเบื้องต้นที่สำคัญ
โดยทั่วไป หากถ่ายอุจจาระเหลว หรือเป็นน้ำบ่อยครั้ง ก็จะเรียกอาการเช่นนี้ว่า “ท้องเดิน” “ท้องเสีย” หรือ “ท้องร่วง” ทั้ง 3 คำนี้มักจะเรียกปนกันโดยไม่ได้แยกแยะว่ามีความแตกต่างกัน
ท้องเดิน มักหมายถึง อาการที่ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ
ท้องร่วง หมายถึง อาการที่ท้องเดินอย่างแรง
ท้องเสีย หมายถึง อาการที่เกิดจากระบบการย่อยอาหารไม่ดี ถ่ายอุจจาระกระปริดกระปรอย
ในปัจจุบัน ศัพท์ทางการแพทย์ นิยมใช้เรียก ท้องร่วง ท้องเสีย เป็น อุจจาระร่วง หรือ ไดอะเรีย (Diarrhea) ซึ่งเป็นคำสุภาพและเป็นภาษาวิชาการ แสดงถึงการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำบ่อยครั้งกว่าปกติ

อุจจาระร่วงคืออะไร?
อจจาระร่วง คือ อาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ภายใน 24 ชั่วโมง โดยทั่วไปมักเกิดขึ้น และหายได้เองภายใน 2-3 วัน

อุจจาระร่วงหรือท้องเสีย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามระยะเวลาของการ
เกิดอาการ ได้แก่
1. ท้องเสียแบบเฉียบพลัน : เป็นอาการท้องเสียทั่วไป มักเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ที่มีอาการประมาณ 2-3 วัน โดยส่วนมากอาการจะทุเลาลง และค่อยๆ หายไปเอง โดยไม่ต้องใช้ยารักษาโรค
2. ท้องเสียแบบต่อเนื่อง : เป็นอาการท้องเสียแบบต่อเนื่อง นานประมาณ 2-4 สัปดาห์
3. ท้องเสียแบบเรื้อรัง : เป็นอาการท้องเสียแบบต่อเนื่องเกิน 4 สัปดาห์ หรือเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจมี

สาเหตุจากโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็งของลำไส้ใหญ่ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
อุจจาระของผู้ที่มีอาการท้องเสียอาจมีลักษณะ ดังนี้
- อุจจาระเป็นมูกเลือด หรือถ่ายเหลวมีเลือดปน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง มีไข้ รู้สึกอยากถ่ายเป็นระยะแต่ถ่ายออกไม่มาก ร่วมกับอาจมีอาการปวดเบ่งที่ทวารหนัก
- อุจจาระเหลวเป็นน้ำ มีสีเหลือง หรือเขียวอ่อน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อุจจาระจะมีสีขาวขุ่น คล้ายน้ำซาวข้าว อุจจาระมีกลิ่นคาว หรืออาจมีมัน คล้ายไขมัน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ปวดเกร็ง ปวดบิด ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน โดยปริมาณของอุจจาระในการถ่ายแต่ละครั้งอาจมีปริมาณมากจนทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และมีภาวะขาดสารน้ำได้
อุจจาระร่วงส่วนมาก มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตที่ปะปนอยู่ในอาหาร และเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด ปกติผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย จะมีอาการทางคลินิก 2 ลักษณะคือ หลังรับประทานอาหารมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และตามมาด้วยอาการท้องเสีย ซึ่งบ่งบอกว่าได้รับพิษและเชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในอาหาร ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่จะมีอาการท้องเสียอย่างเดียว ร่วมกับภาวะขาดสารน้ำ

อาการและระดับความรุนแรงของอุจจาระร่วง มีอะไรบ้าง?
ท้องเสีย อุจจาระร่วง มีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป ตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับรุนแรง ทั้งนี้อาการท้องเสียในระดับที่รุนแรงอาจมีความเชื่อมโยงกับโรคที่มีความซับซ้อนบางชนิดที่ต้องได้รับวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์

อาการของโรคท้องเสีย มีดังนี้
- ปวดท้อง ปวดเกร็ง หรือปวดบิด
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้ ปวดศีรษะ
- หน้าแดง และผิวแห้ง
- อุจจาระมีเลือดปน
- อุจจาระมีมูก หรือเมือกปน
- ถ่ายอุจจาระบ่อย

ภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องเสีย
อาการท้องเสีย อาจทำให้ร่างกายขาดสารน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยอาการของผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดสารน้ำ ได้แก่
- อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด
- ปากแห้ง หรือผิวหนังแห้ง
- เหนื่อยล้า อ่อนแรง
- กระหายน้ำอย่างมาก
- ปัสสาวะน้อย หรือแทบไม่มีเลย ปัสสาวะมีสีเข้ม

อาการท้องเสียที่ควรรีบไปพบแพทย์
- มีอาการท้องเสียต่อเนื่อง ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป โดยอาการไม่ทุเลาลง
- มีภาวะร่างกายขาดสารน้ำ เช่น ปากแห้ง ไม่ถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป หรือมีอาการเวียนศีรษะขณะลุกเปลี่ยนท่า
- มีอาการปวดท้อง บริเวณช่องท้องด้านล่าง หรือทวารหนักอย่างรุนแรง
- ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรืออุจจาระมีเลือดปน
- มีไข้สูงเกินกว่า 39 องศาเซลเซียส

การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการท้องเสีย
- ในกรณีที่อาการท้องเสียไม่รุนแรง ควรถ่ายอุจจาระออกให้หมด เพื่อกำจัดของเสียหรือเชื้อโรคในลำไส้ให้หมดไป
- สิ่งที่หลายคนอาจเข้าใจผิด คือการใช้ยาหยุดถ่าย ทั้งที่มีอาการท้องเสียไม่มาก เนื่องจากยาหยุดถ่ายทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวช้าลง ลดการขับอุจจาระ เพิ่มมวลของอุจจาระ ลดการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียถ่ายเหลวมาก เพื่อป้องกันภาวะขาดสารน้ำ ซึ่งอาจทำให้มีเชื้อโรคอยู่ในร่างกายนานขึ้น

ท้องเสียควรรับประทานยาอะไร
- ยาคาร์บอน หรือยาผงถ่าน มีฤทธิ์ดูดซับสารพิษในทางเดินอาหาร แนะนำให้รับประทาน 2 เม็ดทันที เมื่อมีอาการท้องเสีย ยาคาร์บอนช่วยลดอาการแน่นท้อง ทำให้อุจจาระเหลวน้อยลง สามารถทานซ้ำได้ทุก 3-4 ชั่วโมง หากยังถ่ายบ่อย หรือถ่ายเป็นน้ำ แต่ไม่ควรทานยาคาร์บอนเกิน 16 เม็ด ต่อวัน
- ผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส ชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ โดยผสม 1 ซอง กับน้ำสะอาดในปริมาณที่ระบุข้างซอง ดื่มจนหมด หรือค่อยๆ จิบแทนน้ำเปล่า
- กลุ่มยาหยุดถ่าย เป็นยาที่ช่วยลดความถี่ หรือปริมาณอุจจาระในผู้ป่วยท้องเสีย สามารถใช้ยานี้ในกรณีที่ใช้ยาคาร์บอน และผงเกลือแร่แล้วอาการไม่ดีขึ้น โดยให้รับประทานยานี้ 2 เม็ด ในครั้งแรก และรับประทานซ้ำครั้งละ 1 เม็ด ทุกครั้งที่ถ่ายเหลว แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 8 เม็ดต่อวัน รวมทั้งห้ามใช้ยานี้ในกรณีที่ถ่ายเป็นมูกเลือด
โดยหากใช้ยาทั้ง 3 ชนิดนี้แล้ว อาการไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์ ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะก่อนพบแพทย์

ข้อควรระวัง!
ยาคาร์บอนจะลดการดูดซึมของยาตัวอื่นที่ใช้อยู่ของผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ยาโรคเบาหวาน ยาลดความดัน ยาโรคไขมัน ดังนั้นต้องรับประทานผงคาร์บอนในช่วงเวลาที่ต่างจากยาที่รับประทานประจำ เช่น รับประทานยาประจำไปแล้ว 2 ชั่วโมง จึงรับประทานยาผงคาร์บอนได้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ไม่สามารถควบคุมโรคเดิมที่เป็นอยู่ได้

ข้อแนะนำการรับประทานเกลือแร่เมื่อมีอาการท้องเสีย
ในท้องตลาดทั้วไป มีเกลือแร่อยู่ 2 ประเภท คือ
- เกลือแร่สำหรับคนท้องเสีย Oral Rehydration Salt หรือ ORS จำหน่ายในท้องตลาด
- เกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย Oral Rehydration Therapy หรือ ORT (ORT)
การเสียน้ำจากอาการท้องเสีย เป็นภาวะที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ จึงควรใช้เกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย ซึ่งจะมีปริมาณเกลือแร่ หรือโซเดียมสูงกว่าเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ซึ่งจะมีปริมาณน้ำตาลสูง เหมาะสำหรับการเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายที่ร่างกายจะเสียทั้งน้ำและน้ำตาล เพราะฉะนั้น ไม่ควรซื้อเกลือแร่สำหรับออกกำลังกายมาใช้ในกรณีท้องเสีย หากไม่มีผงเกลือแร่สำหรับคนท้องเสีย อาจใช้น้ำเกลือผสมเองทดแทนได้ โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่น 1/2 ช้อนชา ผสมกับน้ำเปล่าที่สะอาด 750 มิลลิลิตร

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อมีอาการท้องเสีย
- อาหารประเภทนม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส ไอศกรีม เพราะประกอบด้วยน้ำตาลแลคโตส ซึ่งร่างกายย่อยและดูดซึมได้ยาก
- ผลไม้ น้ำผลไม้ เนื่องจากมีน้ำตาลฟรุกโตสมาก หากร่างกายดูดซึมน้ำตาลชนิดนี้เข้าไปมากๆ จะทำให้อาการท้องเสียรุนแรงขึ้น
- อาหารประเภทหมักดอง อาหารสุกๆ ดิบๆ
- อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นาน
- อาหารที่มีกลูเตน เพราะย่อยและดูดซึมยาก และมีโอกาสท้องเสียสูง
- อาหารทอด อาหารมัน อาหารที่มีไขมันสูง เพราะย่อยยาก ร่างกายดูดซึมยาก หรืออาจไม่ดูดซึมเลย อาจกระตุ้นลำไส้ใหญ่เร่งการขับออก ทำให้ท้องเสียมากขึ้น
- อาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด เพราะทำให้ระคายเคืองส่วนปลาย
ของลำไส้
- คาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ช็อคโกแลต โซดา ซึ่งเร่งกระบวนการย่อย และการขับถ่าย

อาหารที่ควรรับประทาน เมื่อมีอาการท้องเสีย
หากมีอาการท้องเสีย ไม่ว่าท้องเสียแบบเฉียบพลัน หรือท้องเสียแบบเรื้อรัง ไม่ควรงดรับประทานอาหาร แต่ให้เลือกรับประทานอาหารอ่อน อาหารไขมันต่ำ อาหารย่อยง่าย ช่วยให้การหดรัดตัวของลำไส้ใหญ่ลดลง จึงช่วยให้การขับถ่ายลดลงไปด้วย

ตัวอย่างอาหารที่แนะนำ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป ซุปเต้าหู้ เนื้อปลา ดื่มน้ำเกลือแร่ อาจดื่มน้ำมะพร้าวเพราะมีเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณสูง สามารถลดอาการอ่อนเพลียจากการสูญเสียน้ำได้ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติขับสารพิษจากร่างกายได้อีกด้วย ดื่มน้ำสะอาด เช่นน้ำต้มสุก

คำแนะนำการดูแลตนเองหลังหายจากอาการท้องเสีย
- หลังจากหายท้องเสียควรรับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ชนิดดี เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เพื่อเพิ่มสมดุลของจุลินทรีย์ดีในลำไส้ นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อย และดูดซึมอาหาร
- รับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ สุกและย่อยง่าย
- ดื่มน้ำสะอาด
- ดูแลสุขอนามัยให้ดี หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
- พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการท้องเสียได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
รศ.นพ.ธเนศ ชิตาพนารักษ์
อาจารย์หน่วยวิชาระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มช.


เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่