คุณธรรมและความโปร่งใสฯ (ITA) ปี 2561


ความเป็นมา

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้พัฒนาเครื่องมือการประเมินเชิงบวกเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตและเป็นกลไกในการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรมโดยใช้ชื่อว่า “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA)” ปัจจุบัน การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) เป็นการประเมินด้านคุณธรรมและความโปร่งใสที่ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐมากที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 425 หน่วยงาน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีหน่วยงานที่รับการประเมิน ดังนี้

- องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ ศาล (เฉพาะหน่วยงานธุรการ) หน่วยงานในสังกัดรัฐสภาและสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 12 หน่วยงาน
- องค์การมหาชน จำนวน 55 หน่วยงาน
- กรุงเทพมหานคร 1 หน่วยงาน
- หน่วยงานภาครัฐระดับกรม จำนวน 146 หน่วยงาน
- ส่วนราชการระดับจังหวัด จำนวน 76 หน่วยงาน
- สถาบันอุดมศึกษา จำนวน 81 หน่วยงาน
- หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 54 หน่วยงาน

หลักการประเมิน

หลักการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) แบ่งออกเป็น 5 ดัชนี ดังนี้

(1) ดัชนีความโปร่งใส (Transparency Index)
(2) ดัชนีความพร้อมรับผิด (Accountability Index)
(3) ดัชนีความปลอดจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน (Corruption – Free Index)
(4) ดัชนีวัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร (Integrity Culture Index)
(5) ดัชนีคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน (Work Integrity Index)

เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน

เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) มี 3 เครื่องมือ ได้แก่

(1) แบบสำรวจหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence – Based Integrity and Transparency Assessment: EBIT) เป็นการประเมินจากระบบการดำเนินงานของหน่วยงาน
(2) แบบสำรวจความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT) เป็นการสำรวจความคิดเห็น โดยจะจัดเก็บข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน
(3) แบบสำรวจความคิดเห็น ผู้มีส่วนได้ส่วน เสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment: EIT) เป็นการสำรวจความคิดเห็น โดยจะจัดเก็บข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของหน่วยงาน

เกณฑ์การประเมินผล

ผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงาน ภาครัฐ มีค่าคะแนนระหว่าง 0 – 100 คะแนน โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ ดังนี้

ช่วงคะแนน(คะแนน) เกณฑ์ระดับคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ
80 – 100 สูงมาก
60 – 79.99 สูง
40 – 59.99 ปานกลาง
20 – 39.99 ต่ำ
0 – 19.99 ต่ำมาก

ผลคะแนนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปีงบประมาณ 2559 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ว่าจ้างให้มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) เป็นผู้สำรวจข้อมูล โดยมหาวิทยาลัยได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการรวบรวมข้อมูล และเสนอแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับผลคะแนนคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2559 โดยรวม ร้อยละ 79.63 อยู่ในระดับ 4 คือ มีระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานสูง

ปีงบประมาณ 2560 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งผลคะแนนคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยรวม เท่ากับร้อยละ 80.21 อยู่ในระดับที่ 5 และจัดอันดับได้ที่ 23 จาก 81 สถาบันอุดมศึกษา คือ มีระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานระดับสูงมาก

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

1. คู่มือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 2. ประกาศเจตจำนงสุจริตการบริหารงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. คู่มือคุณธรรมและความโปร่งใสมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4. คู่มือคุณธรรม จริยธรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5. การจัดซื้อจัดจ้าง 6. มาตรฐานหรือคู่มือการปฏิบัติงาน 7. มาตรฐานและขั้นตอนการให้บริการนักศึกษา 8. ประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ