ทีมนักวิจัยคณะวิทย์ มช. นำผลงานการพัฒนาเซนเซอร์ยืดหยุ่นสูง คว้ารางวัล Alan Glanvill Award 2019 จาก IOM3 สหราชอาณาจักร

30 ตุลาคม 2562

คณะวิทยาศาสตร์


          ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้ารางวัล Alan Glanvill Award ประจำปี 2019 ในเดือนตุลาคม 2562 จากผลงานวิจัย “Highly stretchable and sensitive strain sensors using nano-graphene coated natural rubber” ตีพิมพ์ในวารสาร Plastics, Rubber and Composites : Macromolecular Engineering

รางวัล Alan Glanvill Award เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผลงานวิจัยที่มีความโดดเด่นด้านวัสดุพอลิเมอร์ เพียงปีละ 1 รางวัล มอบโดย Institute of Materials, Minerals and Mining (IOM3) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ทีมนักวิจัยในโครงการวิจัยดังกล่าวประกอบด้วยอาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษา และนักวิจัยหลังปริญญา ได้แก่ รศ.ดร.พิศิษฐ์ สิงห์ใจ ผศ.ดร.วีระเดช ทองสุวรรณ นายเอกพงษ์ กันทารักษ์ นายวัทธิกร สร้อยหล้า น.ส.อริศรา ปันทวรรณ์ นายภาณุพงษ์ แสนเมืองมูล ดร.ศรีวินาสุลุ ทาดากาลุรุ และ ดร.เทวสินธุ์ คำปิคา

งานวิจัยนี้ เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยและนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐาน โปรแกรมร่วมบูรณาการ นวัตกรรมวัสดุสู่อุตสาหกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาเซนเซอร์วัดความเครียดเชิงกลที่มีความยืดหยุ่นสูง มีความไว และมีความเสถียร โดยการเคลือบด้วยแกรฟีนบนยางธรรมชาติ

ผลงานวิจัยนี้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ตรวจวัดความถี่ของการกระดิกนิ้วมือเพื่อวัดการสั่นในคนไข้พาร์กินสัน ตรวจวัดการเดินผิดปกติในคนไข้บางกลุ่ม และยังสามารถนำเซนเซอร์นี้ไปสร้างเป็นถุงมือเพื่อควบคุมระบบแขนกลได้อีกด้วย

อ่านประกาศรางวัล www.iom3.org
อ่านผลงานวิจัย 
แกลลอรี่