ศูนย์วิจัยช้างฯ มช. วิจัยสวัสดิภาพช้างเลี้ยงในแหล่งท่องเที่ยว

5 กันยายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิจัยเชิงลึกด้านสวัสดิภาพช้างเลี้ยงในแหล่งท่องเที่ยวของภาคเหนือ มุ่งปรับปรุงมาตรฐานการเลี้ยงดูช้าง เพิ่มสวัสดิภาพ ควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวป้องกันไม่ให้ช้างเครียด ลดอาหารแคลอรี่สูงป้องกันภาวะอ้วน เพื่อสุขภาพที่ดีของช้าง

     รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์ สพ.ญ.ดร.ภัคนุช บันสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาคลินิกสัตว์เลี้ยงละสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาสุขภาพและสวัสดิภาพของช้างเลี้ยงในแหล่งท่องเที่ยวของภาคเหนือ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา เพื่อประเมินสวัสดิภาพของช้างและหาปัจจัยด้านการจัดการที่ส่งผลต่อสุขภาพและสวัสดิภาพ ในการศึกษาวิจัยมีการสัมภาษณ์ปางช้างจำนวน 34 แห่ง เพื่อสำรวจการจัดการทั่วไปและการเลี้ยงดูช้าง จากนั้นได้ทำการศึกษาเชิงลึกในปางช้างในจังหวัดเชียงใหม่ โดยการเก็บตัวอย่างเลือดช้างเพื่อตรวจวัดค่าทางเมตาบอลิซึมที่เกี่ยวข้องกับความอ้วนในทางสรีรวิทยา มีการตรวจร่างกายช้างเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของร่างกาย สุขภาพเท้าและเล็บ และบาดแผลที่ผิวหนัง นอกจากนั้นยังมีการเก็บตัวอย่างอุจจาระช้างเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนความเครียด


      ผลของการศึกษาวิจัยพบว่าแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือมีการจัดการที่แตกต่างกันไป ทั้งด้านกิจกรรมของนักท่องเที่ยวและการดูแลช้าง ได้แก่ โรงเรือน วิธีการควบคุมช้าง อาหารและน้ำ การดูแลสุขภาพ การจัดการช้างแก่ ช้างตั้งท้อง ช้างเลี้ยงลูก ช้างตกมัน และการจัดการด้านผสมพันธุ์ ปางช้างสามารถเพิ่มสวัสดิภาพช้างได้โดยการให้ช้างได้เดินออกกำลังกายอย่างเพียงพอ และลดปริมาณอาหารที่มีแคลอรี่สูง เพื่อป้องกันภาวะอ้วน ให้ช้างเดินบนพื้นดิน หลีกเลี่ยงการใช้พื้นคอนกรีต และไม่ให้ช้างเดินเป็นระยะเวลานานเกินไป เพื่อป้องกันปัญหาเท้าและเล็บ ใช้อุปกรณ์จับบังคับอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันบาดแผล ควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวต่อวันไม่ให้มากจนเกินไป และเพิ่มโอกาสให้ช้างได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างเครียด


     จากการศึกษาในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการนำไปปรับปรุงมาตรฐานการจัดการเลี้ยงดูช้างของประเทศให้มีความเหมาะสม เพื่อเพิ่มสวัสดิภาพให้กับช้าง สร้างภาพลักษณ์ในการดูแลช้างที่ดีให้กับประเทศ และสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ในการตัดสินใจมาเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่มีช้าง ภายหลังจากสิ้นสุดโครงการวิจัย ได้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยออกสู่สาธารณชนในหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ รวมทั้งการตีพิมพ์เผยแพร่บทความในวารสารวิชาการในระดับนานาชาติ จำนวนทั้งสิ้น 7 บทความ โดยโครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Smithsonian Conservation Biology Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา

แกลลอรี่