สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลเฝ้าทูลละอองพระบาทและพระราชทานพรแก่นักวิจัยไทยที่จะเดินทางไปทำวิจัยที่ขั้วโลกใต้ และทวีปแอนตาร์กติกา ประจำปี 2566 ณ วังสระปทุม

29 พฤศจิกายน 2566

คณะวิศวกรรมศาสตร์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลเฝ้าทูลละอองพระบาทและพระราชทานพรแก่นักวิจัยไทยที่จะเดินทางไปทำวิจัยที่ขั้วโลกใต้ และทวีปแอนตาร์กติกา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.30 น.  ณ วังสระปทุม ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเข้าเฝ้าฯ พร้อมด้วยผู้บริหารและนักวิจัย ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการความร่วมมือนิวทริโนไอซ์คิวบ์และการสำรวจตัดข้ามละติจูด เรือเอกธีรศักดิ์ ปัญญาภีรวัฒน์ เจ้าหน้าที่กลุ่มวิจัยระบบนิเวศโลก-อวกาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นางสาวกชนิภา ไชยน้อย เจ้าหน้าที่กลุ่มวิจัยระบบนิเวศโลก-อวกาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยนักวิจัยที่จะเดินทางไปยังทวีปแอนตาร์กติกา ประกอบด้วย เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน นักวิจัยกลุ่มวิจัยรังสีคอสมิกและอนุภาคพลังงานสูง มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการฯ ดังกล่าว เกิดขึ้นได้ด้วยพระปรีชาญาณและพระราชวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในพื้นที่แถบขั้วโลก ด้วยเหตุนี้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการดำเนินโครงการความร่วมมือนิวทริโนไอซ์คิวบ์และการสำรวจตัดข้ามละติจูด และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในประเทศประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และหน่วยงานต่างประเทศประกอบด้วย หอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวบ์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มวิจัยของสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ มหาวิทยาลัยชอนนัม สถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลี และสถาบันวิจัยขั้วโลกเกาหลี ตลอดจนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ตลอดจนหน่วยงานภาคีความร่วมมือในประเทศและต่างประทศที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยในปี พ.ศ.2566 โครงการฯ จะส่งนักวิจัย 2 คน ไปร่วมปฏิบัติงานในทวีปแอนตาร์กติกา โดย เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม จะร่วมปฏิบัติงานกับกลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ เพื่อขุดเจาะน้ำแข็ง ณหอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวบ์ และ นางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน จะร่วมเดินทางกับคณะวิจัยของสถาบันวิจัยขั้วโลกเกาหลี โดยนำเครื่องตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนแบบเคลื่อนที่ “ช้างแวน” บรรทุกไปกับเรือตัดน้ำแข็ง “เอราออน” เดินทางไปเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาอัตราการเปลี่ยนแปลงของรังสีคอสมิกในระดับละติจูดต่างๆ    ซึ่งการปฏิบัติงานในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ ตลอดจนเป็นการเตรียมพร้อมกำลังคนของประทศไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ
แกลลอรี่