“เมืองสะอาด เริ่มที่แยกขยะอาหาร” จากคำถามในรั้วมหาวิทยาลัย สู่การเปลี่ยนเมืองทั้งเมืองที่แม่เหียะ

7 พฤษภาคม 2568

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

“เมืองสะอาด เริ่มที่แยกขยะอาหาร” จากคำถามในรั้วมหาวิทยาลัย สู่การเปลี่ยนเมืองทั้งเมืองที่แม่เหียะ
.
เป็นเวลากว่า 9 ปีมาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ซึ่งมีทั้งนักศึกษา ร้านอาหาร อาคารเรียน และกิจกรรมมากมายในแต่ละวัน จะสามารถจัดการ “ขยะ” ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดได้อย่างไร คำตอบที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการวางระบบจัดการขยะในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ ยังต่อยอดสู่ต้นแบบการจัดการขยะที่ชุมชนสามารถนำไปปรับใช้ จนปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงในระดับเมือง
.
“ในฐานะที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ เราอยากเป็นตัวอย่างเรื่องการจัดการขยะอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน” ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ และหัวหน้าโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ด้านการจัดการวัตถุอิทรีย์ระดับเมืองที่สมบูรณ์แบบ เทศบาลเมืองแม่เหียะ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของงานวิจัยที่นำไปสู่การจัดตั้ง ‘ศูนย์บริหารจัดการขยะชีวมวลครบวงจร’ เพื่อทดลองระบบจัดการขยะอินทรีย์แบบครบวงจรภายในมหาวิทยาลัย ก่อนขยายผลสู่พื้นที่จริงในชุมชน
.
ภายใต้หลักคิด “แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง” ทีมวิจัยนำเอาองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีพลังงาน และระบบจัดเก็บข้อมูลมาพัฒนาเป็นต้นแบบของการแยกและเก็บเศษอาหารในพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยมุ่งเป้าไปที่การนำเศษอาหารเหล่านี้ไปผลิต “ก๊าซชีวภาพ” ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นในการผลิตไฟฟ้า เป็นก๊าซเติมรถยนต์ และผลิตสารบำรุงดิน “ก๊าซมีเทนจากขยะอินทรีย์ คือพลังงานสะอาดที่ได้จากของเสีย ถ้าเราจัดการมันให้ดี มันก็ไม่กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม” อาจารย์พฤกษ์อธิบายเสริม
.
หลังระบบต้นแบบในมหาวิทยาลัยเริ่มดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมวิจัยจึงหาทางขยายผลสู่เทศบาลเมืองแม่เหียะ ผ่านโครงการ “เมืองแห่งการเรียนรู้ด้านการจัดการวัตถุอินทรีย์ระดับเมืองที่สมบูรณ์แบบ เทศบาลเมืองแม่เหียะ” โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)ภายใต้การกำกับดูแลของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนววน.)
.
จากการสำรวจพบว่าพื้นที่เทศบาลเมืองแม่เหียะมีทั้งร้านอาหาร ตลาด โรงงานขนาดเล็ก รวมแล้วกว่า 500 แห่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือจำหน่ายอาหาร ซึ่งล้วนมีเศษอาหารเป็นผลพลอยได้ทุกวัน ขยะเหล่านี้แม้ดูเล็กน้อย แต่หากไม่ถูกจัดการอย่างเหมาะสม จะสร้างปัญหาทั้งกลิ่นเหม็น แมลงรบกวน เชื้อโรค ส่งผลให้งบประมาณในการจัดการขยะในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
“เราไม่ได้มองว่าร้านค้าเป็นต้นเหตุของปัญหา แต่เห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้กลายเป็นประโยชน์ร่วมกัน” อาจารย์พฤกษ์กล่าว ทีมวิจัยจึงร่วมมือกับเทศบาลเมืองแม่เหียะ พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ช่วยให้ร้านค้าสามารถลงทะเบียน บันทึกปริมาณเศษอาหาร เลือกเวลานัดเก็บ และจัดการขนส่งได้สะดวก โดยระบบทั้งหมดยังเชื่อมต่อกับศูนย์บริหารจัดการขยะชีวมวลครบวงจรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสามารถรองรับเศษอาหารที่แยกเก็บจากชุมชนแม่เหียะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เศษอาหารเหล่านี้จะถูกนำไปหมักผลิตเป็นก๊าซชีวภาพสำหรับใช้เป็นพลังงานสะอาด และกากที่เหลือยังสามารถแปรรูปเป็นสารบำรุงดินกลับคืนสู่ภาคเกษตรกรรม
.
นอกจากผลผลิตที่เกิดขึ้นแล้ว โครงการนี้ยังสร้างผลกระทบต่อร้านอาหารหลายแห่งในแม่เหียะด้วย คือเข้าไปช่วยเรื่องการจัดการขยะอาหาร เพราะเทศบาลไม่ได้จัดเก็บขยะทุกวัน ทำให้เศษอาหารสะสม เกิดกลิ่นเหม็น และมีแมลงรบกวน เช่น หนอนและแมลงวัน แต่เมื่อโครงการจัดการขยะอินทรีย์เข้ามา ร้านค้าสามารถแยกเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป และมีระบบจัดเก็บทุกวัน ทำให้หลังร้านสะอาดขึ้น ปัญหากลิ่นและแมลงลดลงอย่างชัดเจน โดยอุบล ม่วงมะหันต์ เจ้าของร้านข้าวมันไก่เจียงฮายบอกว่ารู้สึกโล่งใจ เพราะปกติขยะอาหารในร้านมีวันละ 20–30 กิโลกรัม เมื่อมีคนมาเก็บให้ทุกวัน ก็ช่วยแบ่งเบาภาระได้มาก และเป็นผลดีทั้งต่อร้านและชุมชนโดยรอบ
.
ขณะเดียวกัน เทศบาลเมืองแม่เหียะก็ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพราะขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร มักมีน้ำหนักมาก หากไม่แยกตั้งแต่ต้นทาง จะเพิ่มภาระทั้งด้านแรงงานและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและขนส่ง แต่เมื่อมีระบบแยกและจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เทศบาลสามารถลดต้นทุนส่วนนี้ลงได้อย่างมหาศาล “งบประมาณที่เคยต้องใช้กับค่าขยะ เราก็นำไปดูแลกลุ่มเปราะบางในชุมชน เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และเยาวชนได้มากขึ้น” นายเทอดเกียรติ เกิดนพคุณ รองนายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ อธิบายถึงผลกระทบที่เกิดจากการทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัย
.
ทุกวันนี้ แม่เหียะกลายเป็นต้นแบบที่ชัดเจนว่า การจัดการขยะอินทรีย์อย่างเป็นระบบสามารถเกิดขึ้นได้จริง ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อน แต่เกิดจากความร่วมมือของคนในพื้นที่ เทศบาล และการนำงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับชุมชน การแยกขยะอาหารออกจากขยะอื่น ๆ ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่เรื่องยาก หากทำจนเป็นนิสัย ก็ช่วยลดปัญหาขยะได้เกินครึ่ง
.
“ไม่ต้องมีระบบใหญ่เหมือนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้ แค่แยกขยะอาหารออกจากขยะชนิดอื่น คุณก็ลดปัญหาขยะได้ครึ่งหนึ่งแล้ว” อาจารย์พฤกษ์ตอกย้ำแนวคิดง่าย ๆ ที่สามารถเปลี่ยนเมืองทั้งเมืองให้สะอาดและน่าอยู่ได้ด้วยความร่วมมือของทุกคน
.
.
ติดตามเรื่องราวงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/share/v/16TQxuNqb6/
.
#TSRI #สกสว #สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #เคลื่อนไทยด้วยวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #ResearchCafe #แม่เหียะโมเดล #จัดการขยะอินทรีย์ #พลังงานสะอาด #ขยะเปลี่ยนเมือง #งานวิจัยเพื่อชุมชน #บพท #กองทุนววน #CMU #WasteToEnergy
ข้อมูลโดย : researchcafe https://www.facebook.com/photo?fbid=1245564817575893&set=a.674711824661198
แกลลอรี่