มช. ผลักดันการยกระดับเชียงใหม่เป็น “นครแห่งชีวิต” เติบโตอย่างรอบด้าน และครอบคลุมที่สุด พร้อมผลักดัน Medical & Wellness tourism หมุดหมายใหม่ของสายสุขภาพ

4 ตุลาคม 2566

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มช. ผลักดันการยกระดับเชียงใหม่เป็น “นครแห่งชีวิต” เติบโตอย่างรอบด้าน และครอบคลุมที่สุด  พร้อมผลักดัน Medical & Wellness tourism หมุดหมายใหม่ของสายสุขภาพ

        มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 20 ปี (พ.ศ. 2566 - 2585) “นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่งบนพื้นฐานของการกระจายโอกาสอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” พร้อมนำทัพบุคลากรที่มีศักยภาพทางวิชาการดีเยี่ยมร่วมสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง ผลักดัน Medical & Wellness Tourism ให้เชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญ เพื่อตอบรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็น “Wellness City” และบูรณาการความรู้ผสมผสานภูมิปัญญา วัฒนธรรมล้านนาควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้าง “Sustainable Smart Campus” ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งได้นำเสนอให้กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับทราบ เมื่อมาพบปะพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ และผู้ประกอบการ เรื่องภาพรวม ปัญหา และข้อเสนอแนะของจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 16 กันยายน 2566

        จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง มีลักษณะโดดเด่นหลายด้าน จึงสามารถดึงดูดความสนใจจากประชาชน นักท่องเที่ยว นักลงทุน ทั้งชาวไทย และต่างประเทศให้เข้ามาสู่หัวเมืองล้านนาแห่งนี้ไม่ขาดสาย สิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ผลักดันมาตลอดหลายปีคือ การสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรม ช่วยพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่อย่างรอบด้าน และครอบคลุมที่สุด โดยปัจจุบัน ภายใต้แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระยะที่ 13 ผสานการดำเนินงานเชิงรุก 3 ด้านหลักของมหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่า “CMU BCG PLATFORM” ประกอบด้วย Medicopolis, Biopolis, และ Creative Lanna

        Medicopolis เมืองนวัตกรรมการแพทย์ ตั้งเป้าสู่เมืองศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Chiang Mai Medical Health Hub จากความพร้อมในทุกด้าน และการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับสากล สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็น “Wellness City” นอกจากเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สุขภาวะความเป็นอยู่ของประชาชน และเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมผลักดัน Medical & Wellness Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และเชิงสุขภาพ ให้เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ผสานความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน รวบรวมองค์ความรู้ของศาสตร์สมัยใหม่ บูรณาการเข้ากับศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ เชียงใหม่สามารถก้าวข้ามขีดความสามารถในการแข่งขัน สู่ระดับสากลผ่านการพัฒนา ธีม (Theme) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ 7 ด้าน บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ผสานนวัตกรรมและความคิดสร้างสร้าง เป็น 7 Wellness Wisdom Programs ได้แก่ Active & Anti-Aging, Dental Dream, Beauty and the Best, Creative Clean Care, Fun & Fit Family, Exceptional Executive และ Sport Supreme/Rehab

      โดยสถานพยาบาลที่แล้วเสร็จและได้เปิดให้บริการไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ส่งเสริมพฤฒิพลังผู้สูงอายุ (Senior Wellness Center) ศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข(Medical Hub) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (TTCM) ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (GMC) เป็นต้น

        ด้าน Biopolis มหาวิทยาลัยได้พัฒนาศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะให้เป็น “BCG แม่เหียะโมเดล” เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยบูรณาการองค์ความรู้ 3 ด้าน Bio Circular Green ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การแพทย์การดูแลผู้สูงอายุ อาหาร มาผนวกกับสิ่งแวดล้อมพลังงาน และการสร้างสรรค์เศรษฐกิจมูลค่าสูงของวัฒนธรรมล้านนาเข้าด้วยกัน ก่อกำเนิดหลายโครงการที่สร้างคุณประโยชน์ทางการศึกษา และท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น

  • Gastronomy Tourism : LANNA Gastronomy “คิดถึงเชียงใหม่” โครงการที่มุ่งพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนารูปแบบใหม่ ให้เติบโตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนปลายน้ำ มีศักยภาพและพึ่งพาตนเองได้
  • การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ จากการรวมตัวของคณาจารย์ผู้ชำนาญในหลายสาขาวิชา พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรับมือวิกฤตฝุ่นอย่างสร้างสรรค์ แบบครบทุกมิติ

         ด้าน Creative Lanna พัฒนาศูนย์รวมองค์ความรู้ ศิลปะ วัฒนธรรม เนื่องจากเอกลักษณ์ของล้านนาเชียงใหม่นั้น มีความโดดเด่นและความน่าสนใจ ไม่เพียงแต่ควรค่าต่อการอนุรักษ์เพื่อให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่เท่านั้น แต่การสร้างนวัตกรรมเพื่อชูภูมิปัญญาอย่างสร้างสรรค์จsะช่วยให้คนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงความเป็นล้านนาได้อย่างไม่เลือนหาย มหาวิทยาลัยฯ จึงมีการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง “Creative Lanna Marketplace” กิจกรรมที่เป็นความร่วมมือจากองค์กรภายในของมหาวิทยาลัยร่วมกับพื้นที่ในย่านชุมชน เปิดพื้นที่ระเบิดความเป็นล้านนาอย่างสร้างสรรค์ ผสานองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ากับย่านเศรษฐกิจตามแนวคิด (Concept) ที่สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ ตลอดจน การดำเนินการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ในเชียงใหม่ และ ภาคเหนือ ผ่าน บวร บ้าน วัด และ โรงเรียนสร้างสรรค์ และ การพัฒนาชุมชนคลองแม่ข่าอย่างยั่งยืน จนเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเชียงใหม่

         นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังมีเป้าหมายที่จะสร้าง Sustainable Smart Campus ให้เป็นรูปธรรม เตรียมความพร้อมของการเป็นมหาวิยาลัยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) จากเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ต้องการจะสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติสังคมและวัฒนธรรม ให้ชุมชนนำไปต่อยอดให้เหมาะกับแต่ละท้องที่ เพื่อสอดรับกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม

แกลลอรี่