นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล คณะวิทย์ มช. ใช้องค์ความรู้ด้าน DATA SCIENCE ศึกษาปรากฏการณ์ไมโครเลนส์ที่มีกำลังขยายสูง Gaia19bld เพื่อวัดมวลของเลนส์ร่วมกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลกได้อย่างแม่นยำ

6 กรกฎาคม 2565

คณะวิทยาศาสตร์

       นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล คณะวิทย์ มช. ใช้องค์ความรู้ด้าน DATA SCIENCE ศึกษาปรากฏการณ์ไมโครเลนส์ ที่มีกำลังขยายสูง Gaia19bld สามารถวัดมวลของเลนส์ ร่วมกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลก และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะนำไปสู่การวัดมวลของเลนส์ความโน้มถ่วงของวัตถุท้องฟ้าที่ไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น หลุมดำมวลดาวฤกษ์ ได้ในอนาคต

       นักวิจัยโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยวิทยาการข้อมูล ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.ดร.นวพร นาคหฤทัย ได้ร่วมวิเคราะห์ข้อมูล ปรากฏการณ์ไมโครเลนส์ที่มีกำลังขยายสูง Gaia19bld โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาและวัดมวลของเลนส์ ร่วมกับกล้องโทรทรรศน์อื่นๆบนพื้นโลก กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Gaia และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Spitzer

ผลลัพธ์ของงานวิจัยพบว่า เลนส์ของปรากฏการณ์ไมโครเลนส์ที่มีกำลังขยายสูง Gaia19bld เป็นดาวฤกษ์มวล 1.13 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ ที่อยู่ห่างจากโลก 18,000 ปีแสง โดยการวัดมวลของเลนส์ของปรากฏการณ์นี้ นับเป็นการวัดมวลของดาวฤกษ์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าที่แม่นยำเป็นครั้งแรกๆ ของโลก

การวัดมวลดังกล่าวอาศัยเทคนิค Astrometry ซึ่งจำเป็นต้องใช้ข้อมูลการสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์มากกว่าสองกล้องที่อยู่ห่างกันอย่างมาก โดยในงานวิจัยนี้ได้มีการใช้กล้องโทรทรรศน์จำนวนมากบนพื้นโลก รวมถึงกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Gaia และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Spitzer ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าเทคนิค Astrometry สามารถวัดมวลได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะไปสู่การวัดมวลของเลนส์ความโน้มถ่วงของวัตถุท้องฟ้าที่ไม่สามารถมองเห็นได้ อาทิเช่น หลุมดำมวลดาวฤกษ์ ได้ในอนาคต

โดยจากผลสัมฤทธิ์จากงานวิจัยดังกล่าว เป็นหนึ่งในก้าวสำคัญในการพัฒนาการสาขาวิทยาการข้อมูลและดาราศาสตร์ในประเทศไทย จากการจัดการข้อมูลสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ของประเทศไทย ให้สามารถใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลก และกล้องโทรทรรศน์อวกาศได้ เป็นการยกระดับ SDG ทางด้าน Partnerships for the Goals ของประเทศไทย ให้สามารถใช้ข้อมูลจากโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ในการวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยระดับโลกได้

Image credit: K. Rybicki, L. Wyrzykowski, A. Cassan, E. Bachelet.

หัวข้องานวิจัย "Single-lens mass measurement in the high-magnification microlensing event Gaia19bld located in the Galactic disc"
การวัดมวลของเลนส์เดี่ยวของปรากฏการณ์ไมโครเลนส์ที่มีกำลังขยายสูง Gaia19bld ในจานกาแล็กซี 

งานวิจัยถูกตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ Astronomy and Astrophysics ในปี 2022
(Q1 ISI/Scopus, Impact Factor 5.802, Top 15% in Space and Planetary Science)

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://doi.org/10.1051/0004-6361/202039542 

แกลลอรี่