มช. ผนึก GIZ และ Enapter ลงนามข้อตกลง สร้างเชียงใหม่เป็นศูนย์ความรู้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว

14 กุมภาพันธ์ 2566

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

          มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมมือกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ ) และ Enapter เปิดตัวโครงการ "Making Chiang Mai a Knowledge Hub for Green Hydrogen" ในวันอังคารที่14 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมสำหรับระบบไฮโดรเจนสีเขียวแบบโมดูลาร์ (modular green hydrogen systems) ในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมผลักดันตลาดไฮโดรเจนสีเขียว(Green Hydrogen )ในภูมิภาค

        ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โครงการ “Making Chiang Mai a Knowledge Hub for Green Hydrogen” มช. และ GIZ และ Enapter มีจุดมุ่งหมายดำเนินโครงการ เพื่อส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมสำหรับระบบไฮโดรเจนสีเขียวแบบโมดูลาร์ (modular green hydrogen systems) ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผลักดันตลาดไฮโดรเจนสีเขียวในภูมิภาค โดยจะเพิ่มความมั่นใจในไฮโดรเจนสีเขียว เร่งการตัดสินใจ ปรับใช้โครงการ และรับประกันโครงการที่มีคุณภาพสูงขึ้น ผ่านการจัดการและการฝึกอบรมช่างเทคนิคสำหรับผู้รวมระบบ ผู้พัฒนาโครงการ และผู้บริโภค โครงการนี้ร่วมมือกับ Enapter ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนสัญชาติเยอรมัน ที่เป็นผู้ผลิต ไฮโดรเจนอิเล็กโทรไลเซอร์เทคโนโลยี AEM จะได้ฝึกอบรมคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ให้เป็นวิทยากร/ผู้ให้ความรู้ต่อสาธรณชนด้านไฮโดรเจนสีเขียวและเทคโนโลยีอิเล็กโทรลิซิส

         ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีประวัติความร่วมมือกับ GIZ เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินงานร่วมกันในการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในประเทศไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การดำเนินงานร่วมกันในครั้งนั้นได้ช่วยให้การดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพเติบโตในโรงงานอุตสาหกรรมและฟาร์มปศุสัตว์ โดยได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพไปแล้วมากกว่า 1,000 แห่ง ทั่วประเทศ

        โครงการ“Making Chiang Mai a Knowledge Hub for Green Hydrogen” ถือว่าเป็นโครงการที่สร้างขึ้นจากความสำเร็จในการร่วมมือในอดีตและนำเราเข้าใกล้อนาคตที่ยั่งยืนอีกก้าวหนึ่ง ด้วยความหวังว่าไฮโดรเจนสีเขียวจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับก๊าซชีวภาพ การบริหาร และเรามั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรลุเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนและสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยในอนาคต

         Mr.Tim Nees , Project Coordinator องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ ) กล่าวว่า โครงการ “Making Chiang Mai a Knowledge Hub for Green Hydrogen”ประกอบด้วยศูนย์ฝึกอบรมที่จัดทำและนำเสนอหลักสูตรเกี่ยวกับระบบไฮโดรเจนแบบโมดูลาร์ และสถานที่สาธิตที่จัดแสดงระบบไฮโดรเจนของ Enapter ณ "โครงการบ้านผีเสื้อ" ตำบล สันผีเสื้อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ศูนย์ฝึกอบรมจะให้ความรู้แก่นักพัฒนาโครงการเกี่ยวกับโครงการไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และฝึกประสบการณ์ตรงในการจัดการและทักษะทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับระบบไฮโดรเจนแบบโมดูลาร์ ความคิดริเริ่มนี้จะช่วยวางตำแหน่งประเทศไทยและเชียงใหม่ ในฐานะผู้บุกเบิกเทคโนโลยีระบบไฮโดรเจนแบบโมดูลาร์ ดึงดูดความสนใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สนใจทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

         ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนไทยและเยอรมัน ตลอดจนภาควิชาการ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการส่งเสริมพลังงานสะอาดและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเป็นส่วนหนึ่งของ "International Hydrogen Ramp-up Program (H2Uppp)" และเป็นการมอบโอกาสในการฝึกอบรมให้กับผู้เข้าร่วมโครงการจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ไม่เพียงแค่ช่วยในเรื่องการลดคาร์บอนของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านไฮโดรเจนสีเขียวอีกด้วย

          ด้าน นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการที่ได้ดำเนินการร่วมมือในครั้งนี้ ถืิอเป็นการร่วมมือกันในการปักหมุดหมายที่สำคัญ ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และภาควิชาการของไทยและเยอรมัน เพื่อร่วมกันก้าวต่อไปในยุคแห่งการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน การพัฒนาที่ยั่งยืนและการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ดังนั้น โครงการนี้จึงไม่ได้มีความสำคัญเพียงในจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับโลก

         อย่างที่เราทราบกันดีว่า โลกของเรากำลังก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และความต้องการแหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในบริบทโลกดังกล่าว ไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้กลายเป็นทางเลือกที่สำคัญ ทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิม โดยเฉพาะเชื้อเพลิงจากน้ำมันและถ่านหิน โดยโครงการนี้มุ่งเป้าไปที่การให้ความรู้แก่ผู้เชี่ยวชาญและส่งเสริมระบบพลังงานไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถเป็น ส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายการลดคาร์บอนของประเทศไทย ในด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 แต่รวมถึงการทำให้จังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยเป็นผู้บุกเบิกและศูนย์กลางการพัฒนาและการฝึกอบรบด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว ที่จะสามารถดึงดูดความสนใจ จากนักลงทุนและผู้ที่สนใจมาจากทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย

         โดยศูนย์ฝึกอบรมของโครงการนี้ จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้ที่จำเป็น และประสบการณ์จริงในการจัดการ และทักษะทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นการวางรากฐานองค์ความรู้สำหรับผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ในสาขาวิชานี้ และขับเคลื่อนโครงการนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะสามารถต่อยอดพัฒนาเพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมสีเขียวใหม่และช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทย ไปพร้อมกับการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

แกลลอรี่