ต้นแบบถนนจากขยะพลาสติก

8 ตุลาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

ต้นแบบในการนำขยะพลาสติกประยุกต์ใช้ในรูปของส่วนผสมในการผลิตแอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อนบล๊อคปูพื้น และยางมะตอยชนิดผสมเสร็จ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีนโยบายในการที่จะก่อให้เกิดระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยมีเป้าหมายและหลักการที่จะมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับนักศึกษาบุคลากรและชุมชนโดยรอบได้นำไปปฏิบัติ จึงมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการรักษาสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ “Green & Clean Campus” และสนับสนุนให้มีการคัดแยกขยะและจัดการขยะอย่างถูกวิธี รวมไปถึงผลิตพลังงานทดแทนเพื่อใช้ภายในมหาวิทยาลัย ในปีงบประมาณ 2560 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 “โครงการบริหารจัดการชีวมวลเหลือใช้แบบครบวงจร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” เพื่อการผลิตพลังงานจากขยะมูลฝอย ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีแบบบูรณาการ (integrated solid waste management) เพื่อจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงวัสดุชีวมวลอื่น ๆ เช่น เศษวัสดุเหลือทางการเกษตร และมูลสัตว์ จากคณะเกษตรศาสตร์ เศษกิ่งไม้และใบไม้ ในพื้นที่ ฯลฯ โดยเปลี่ยนวัสดุชีวมวลเหล่านี้ให้เป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และ ก๊าซไบโอมีเทนอัดเพื่อใช้กับระบบขนส่งมวลชนภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ในแง่ของพลังงานทดแทนแล้ว ยังมุ่งเน้นการจัดการชีวมวลแบบครบวงจร โดยจะสนับสนุนกระบวนการจัดการขยะมูลฝอยเพื่อการคัดแยกขยะที่ต้นทาง, การจัดการขยะรีไซเคิลแบบครบวงจร, การจัดการชีวมวลเหลือใช้ รวมถึงการจัดการกากไขมันจากโรงอาหารเพื่อการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งจะบูรณาการกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานเข้าไว้ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ขยะที่เหลือจากกระบวนการคัดแยก โดยส่วนใหญ่เป็นเศษขยะพลาสติก ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการจัดการในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่เพียงแต่ระดับมหาวิทยาลัย แต่ยังเป็นปัญหาระดับประเทศ วิกฤติขยะพลาสติกยังเป็นปัญหารุนแรงต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง นำมาสู่การเดินหน้าทำแผนการจัดการขยะให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้จัดตั้งโครงการ “Thailand Public Private Partnership for Plastic and Waste Management” (PPP) ซึ่ง บริษัทดาวประเทศไทย (DOW Thailand) และเอสซีจี (SCG) ทำงานภายใต้โครงการนี้ จากการประสานงานในเบื้องต้นกับ บริษัทดาวประเทศไทย (DOW Thailand) และเอสซีจี (SCG) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ PPP มาช่วยส่งเสริมความตั้งใจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่มุ่งนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อย่างเป็นรูปธรรม ในรูปของส่วนผสมของวัสดุก่อสร้าง เช่น แอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อน บล๊อคปูถนน และ ยางมะตอยชนิดผสมเสร็จ แนวคิดโครงการต้นแบบในการนำขยะพลาสติกแปรใช้ใหม่ในรูปของส่วนผสมในการผลิตแอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อน บล๊อคปูพื้น และยางมะตอยชนิดผสมเสร็จ ภายใต้ความร่วมมือของ สำนักงานอธิการบดี สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ และ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อผลิตแอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อนที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ ให้เพียงพอกับการซ่อมบำรุงถนนและลานจอดรถในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลิตบล๊อคปูถนนแอสฟัลต์ที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ ผลิตยางมะตอยชนิดผสมเสร็จที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ เพื่อสร้างการเรียนรู้นำร่องในการนำขยะพลาสติกมาใช้เป็นส่วนผสมของแอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อน บล๊อคปูพื้น และยางมะตอยชนิดผสมเสร็จ

ผลการดำเนินงานสามารถผลิตแอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อนที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ 12 ตันต่อปีผลิตบล๊อคปูถนนแอสฟัลต์ที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ 6 ตันต่อปี และผลิตยางมะตอยชนิดผสมเสร็จที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ 8 ตันต่อปี สามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกจากการคัดแยกของโรงชีวมวลครบวงจร และตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง zero waste


#CMU #ChiangMaiUniversity #มช #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

#CMUSDGs #CMUSDG7 #CMUSDG9 #CMUSDG11 #CMUSDG12 #CMUSDG13

#SDG7 #SDG9 #SDG11 #SDG12 #SDG13

ข้อมูลโดย : https://erdi.cmu.ac.th/?p=2228&fbclid=IwAR0eVQMnATQ-_7655mTzNRMEePhHqS0WuP53l2M1fs5hc44sBBKgW8Rf8UY
แกลลอรี่