คณะวิทยาศาสตร์จัดพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เนื่องในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566

18 สิงหาคม 2566

คณะวิทยาศาสตร์

            คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” เนื่องในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 โดยได้รับเกียรติจาก นายชัชวาล ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ และกล่าวถวายราชสดุดี และมอบโล่เกียรติคุณแก่คณาจารย์ และบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน และศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวรายงานความเป็นมาของการจัดงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ คณะผู้แทนจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นเกียรติในพิธีฯ ณ ห้องบรรยาย SCB2100 อาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับการจัดงานในปีนี้ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กำหนดหัวข้อการจัดงานหลักคือ “วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สิ่งแวดล้อมและสังคม BCG” และหัวข้อการจัดงานย่อยคือ “เรียน เล่น งาน อาชีพ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี” และคณะวิทยาศาสตร์ได้กำหนดหัวข้อการจัดงานให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย คือ “วิทยาศาสตร์ในวันที่โลกผันผวน : Science in the VUCA World” เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้ และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเอาตัวรอดในยุคที่โลกหมุนกลับ ไม่มีสิ่งใดคาดเดาได้ง่ายอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โรคอุบัติใหม่ที่รุนแรง แม้กระทั่งภัยสงคราม ปัญหาทรัพยากร รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้คนทั่วโลก

ช่วงเวลาการจัดงานจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ วันที่ 18 สิงหาคม 2566 จะเป็นการจัดพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และวันที่ 31 สิงหาคม , 1-2 กันยายน 2566 จะเป็นช่วงเวลาของการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566

โดยกิจกรรมจะจัดครอบคลุมทุกพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์ ทั้งกิจกรรมทางด้านวิชาการและสันทนาการ อาทิ การจัดนิทรรศการจากภาครัฐและเอกชน, นิทรรศการ "วิทยาศาสตร์ในวันที่โลกผันผวน", นิทรรศการ "Sci CMU : We are Real Scientists, และนิทรรศการการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งการออกบูธโชว์นวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ลานอะตอม ชั้น 1 อาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันทักษะทางวิชาการ ได้แก่ การประกวดโครงงาน การแข่งขันวาดภาพการ์ตูนทางวิทยาศาสตร์ วาดภาพจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ ตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ การแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) กระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของนักวิทยาศาสตร์น้อย และกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์

และที่สำคัญ ยังมีการจัดกิจกรรมของภาควิชาและศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม รอดได้ด้วยเคมีอินทรีย์, นวัตกรรมสะอาดเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน, Bee in VUCA World, โลกผันผวน ชีวะสู้กลับ, Wonder in Physics, Journey to the Universe, Geo's Cineplex: ตอน เอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ, ไขความลับธรณีวิทยา (Geol Secret), ภาพลวงตามายาลวงใจในโลก VUCA, Flip the VUCA Planes (เกมระนาบผันผวน), สถิติ กับ VUCA World, ดาราศาสตร์กับสถิติ, จากเส้นใยสู่สีสัน, วิทยาศาสตร์เซรามิกสร้างสรรค์ศาสตร์และศิลป์, CSCMU Coding Challenge, Exploring CS - VR: ท่องท้องฟ้าตามหากลุ่มดาว & บ้านผีสิง, นาโนเทคโนโลยีกับ BCG model, ซุ้มสิ่งแวดล้อมหรรษา, Eco Print พิมพ์ลายสวยด้วยธรรมชาติ, สนุกคิด with Data Science, ส่องกล้องมองดูจิ๋ว และอื่นๆ อีกมากมายนับ 100 กิจกรรม

สำหรับงาน CMU SCIENCE WEEK 2023 ได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ เพื่อสนับสนุน และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงทักษะ ความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนได้มีส่วนร่วม และตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวการจัดกิจกรรมทั้งหมดได้ที่ http://scw.science.cmu.ac.th



แกลลอรี่