CAMT วิจัยร่วม บพท. และสอวช. จัดสัมมนาการผลักดันศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งเชียงของ สู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์อนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง

27 ตุลาคม 2566

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี

        เมื่อวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดสัมมนาและรับฟังความคิดเห็น การผลักดันศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งเชียงของสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์อนุภูมิภาค รองรับการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (CBEC) เชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) สู่การเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน ไทย-ลาว-จีน โดยได้รับเกียรติจาก นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งมีส่วนงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคเอกชน ผู้นำชุมชน เข้าร่วมการสัมมนา ณ โรงแรมเชียงของ ทีคการ์เด้น ริเวอร์ฟร้อนท์
        อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี หัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center (CIC) และหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงงานวิจัย "การสร้างห่วงโซ่คุณค่าข้ามแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ" กลุ่มธุรกิจ New S Curve กล่าวว่า การก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งเชียงของ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เพื่อยกระดับพื้นที่การค้าชายแดนอำเภอเชียงของให้กลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่าง จีน-อาเชียน รวมถึงการสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับคู่ค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเชียงของ โดยการขับเคลื่อนศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งเชียงของ ให้ยกระดับสู่การเป็นเขตปลอดภาษีครบวงจร (CBEC) มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างจีน-อาเชียน รวมทั้งการเปิดเขตการค้าเสรีกลุ่มอุตสาหกรรมทันสมัย การจัดสัมมนาในครั้งนี้เพื่อนำเสนอความพร้อมของผู้ประกอบการเอกชนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย-ลาว-จีน ในการเข้าใช้ประโยชน์ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งเชียงของและเพื่อระดมสมองกำหนดแนวทางการพัฒนาด่านศุลกากรอำเภอเชียงของ สู่เขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน และศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค อีกทั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบททางสังคม ชุมชนในพื้นที่
        ทั้งนี้ในการสัมมนาคุณชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้นำเสนอแนวคิดมุมมองต่อศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของในมิติของการเป็นศูนย์การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างไทย-ลาว-จีน (Cross Border E-Commerce: CBEC) ในรูปแบบเดียวกันกับพื้นที่ท่าอากาศยาน ที่สามารถรองรับสินค้าในแบบ LCL เพื่อรวมตู้สำหรับการขนส่งผ่านกระบวนการโลจิสติกส์ สามารถกำหนดเวลาการเดินรถระหว่างไทย-ลาว-จีน ผ่านเส้นทาง R3A ในแบบสายการบิน ซึ่งจะช่วยสร้างจุดแข็งด้านเวลาให้กับสินค้าที่มาใช้บริการในเส้นทางนี้ เป็นวิธีการสร้างความแตกต่างให้กับเส้นทางและเหมาะสมกับรูปแบบการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว แนวทางนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในท้องถิ่นอำเภอเชียงของ ภาคเหนือและประเทศไทย สามารถใช้ศูนย์ฯเชียงของเป็นประตูการค้า CBEC สู่ประเทศจีน และในทางกลับกันศูนย์ฯเชียงของก็สามารถเป็น Outbound Fulfillment Center ให้กับสินค้าจีนสู่อาเซียน ซึ่งจะทำให้อำเภอเชียงของกลายเป็นศูนย์กลาง CBEC ระหว่างจีนกับอาเซียน เป็นประตูการค้าช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยทั้งในกลุ่มสินค้าทั่วไปและสินค้าเกษตรพรีเมียม มีช่องทางโลจิสติกส์และจุดรวมสินค้าสำหรับการส่งออก ผ่านช่องทางการนำเสนอสินค้าบนแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พลิกโฉมรูปแบบการค้าชายแดนแบบดั้งเดิมสู่การค้าชายแดนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีระบบโลจิสติกส์ช้ามแดนที่มีมาตรฐาน
        ในงานสัมมนายังได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนประชาคมในท้องถิ่นที่นำเสนอความต้องการที่จะเข้ามีส่วนร่วมใช้ประโยขน์ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ทั้งเพื่อการแสดงและจัดจำหน่ายสินค้า ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่บางส่วนรองรับการจัดตั้งสำนักงานขนส่งในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงาน บพท.จะทำหน้าที่ผลักดันให้มีการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ศูนย์ฯเชียงของต่อไป ซึ่งภายหลังจากจบการสัมมนาในช่วงเช้าผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนหนึ่งยังได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ โดยมีคณะผู้แทนของกรมการขนส่งทางบกให้การต้อนรับและบรรยายสรุปแนะนำ
        สำหรับแนวทางการผลักดันต่อการทำให้อำเภอเชียงของสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ CBEC ภายหลังสิ้นสุดการสัมมนาได้กำหนดแนวทางสำคัญไว้ดังนี้
        ประการที่หนึ่งผลักดันผ่านกระทรวงพาณิชย์เพื่อเจรจานำเสนอแนวทางการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดนไทย-ลาว-จีน โดยเชื่อมต่อพื้นที่เชียงของ-ห้วยทราย (แขวงบ่อแก้ว) กับเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น-โม่ฮาน (บ่อหาน) เพื่อให้เส้นทาง R3A ใหม่ (ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นถนนมอเตอร์เวย์ระยะทาง 176 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง) ทำหน้าที่เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษของทั้งสามประเทศเข้าด้วยกัน
       ประการที่สองประสานงานกับกระทรวงการคลัง กรมศุลกากรเพื่อให้ด่านศุลกากรเชียงของเป็นด่านรองรับสินค้ากลุ่มพัสดุภัณฑ์เร่งด่วน การเปิดให้มีคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อพัฒนาสู่การเป็น CBEC Free zone Fulfillment Center รวมถึงการขอให้มีเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากรเข้ามาปฏิบัติงานภายในศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งสินค้าเชียงของ
        ประการที่สามนำเสนอข้อมูลความจำเป็นในการซ่อมบำรุงเส้นทาง R3A เดิมให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพกว่าปัจจุบัน เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวในช่วงแขวงหลวงน้ำทาถึงบ่อเต็น สภาพถนนมีความชำรุดทรุดโทรมมาก โดยนำเสนอผ่านกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อขอใช้งบประมาณจาก BRI จีนสำหรับการซ่อมบำรุง
        และประการที่สี่นำเสนอผ่านกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขกฎเกณฑ์ให้ประชาคมท้องถิ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับการใช้ประโยชน์ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ รวมถึงให้ผู้รับสัมปทานบริหารจัดการที่เป็นบริษัทเอกชนสามารถใช้พื้นที่ภายในศูนย์ฯในการดำเนินกิจกรรมที่มีความยืดหยุ่นหลากหลายมากกว่าการเป็นเพียงศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า ทั้งนี้เพื่อให้ศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯและสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่สี่บริเวณด่านศุลกากรมีกิจกรรมที่ท้องถิ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วม เพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่

แกลลอรี่