19 ตุลาคม 2564
สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 14 ตุลาคม 2564
รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ธีรอำพน ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ เอื้อพันธ์วิริยะกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ ให้การต้อนรับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในโอกาสเยี่ยมชมห้องวิจัยปัญญาเชิงคำนวณ (Computational Intelligence Research Laboratory: CI Lab) และนำเสนอต้นแบบงานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล และ A.I. เช่น แพลตฟอร์มเครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานและระบบการระบุพิกัดพร้อมการสื่อสารแบบไร้สายสำหรับรถฉุกเฉิน "CMUgency" ซึ่งทำให้การวัดสัญญาณชีพและการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยหรือผู้ประสบเหตุ ศูนย์ประสานงาน รถฉุกเฉิน โรงพยาบาล รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ เป็นไปได้โดยง่าย หรือแพลตฟอร์ม "ช้างไฟ" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเครื่องตรวจจับควันไร้สายเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาไฟป่า เป็นต้น นวัตกรรมเหล่านี้ถูกนำไปใช้งานจริงมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีโครงข่ายโทรศัพท์ระบบ 4G ในการสื่อสารข้อมูล นอกจากนี้ ทีมงานยังได้สาธิตการส่งสัญญาณวิดีโอจากเครื่องอัลตราซาวด์ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์ระบบ 5G อีกด้วย ซึ่งถือเป็นอีกก้าวในการนำระบบ 5G ไปใช้ในการสื่อสารข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปัจจุบัน