นักวิจัย มช. ร่วมกับนักวิจัยจีน คิดค้นเทคนิคใหม่ในการสร้างฟิล์มบางกันน้ำแบบใส สำหรับเพอรอฟสไกต์โซลาร์เซลล์ต้นทุนต่ำ ที่มีประสิทธิภาพและความทนทานสูง

22 มิถุนายน 2566

คณะวิทยาศาสตร์

            ทีมนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยเซลล์แสงอาทิตย์ (SCRL) ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับทีมนักวิจัยจาก Institute of Solar Energy, Shanghai Jiao Tong University สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อ “A new single-step technique to fabricate transparent hydrophobic surfaces utilizable in perovskite solar cells” ซึ่งเป็นเทคนิคขั้นตอนเดียวแบบใหม่ในการสร้างฟิล์มบางกันน้ำแบบใสสำหรับเพอรอฟสไกต์โซลาร์เซลล์ต้นทุนต่ำที่มีประสิทธิภาพและความทนทานสูง

งานวิจัยนี้ใช้เทคนิคไฮโดรไลซิสของการระเหยยางซิลิโคน สร้างฟิล์มบางแบบใสที่ไม่ชอบน้ำขึ้นระหว่างชั้นฟิล์มส่งผ่านอิเล็กตรอน TiO2 และชั้นฟิล์มดูดกลืนแสงเพอรอฟสไกต์ โดยอาศัยการสร้างพันธะระหว่างกลุ่มสารที่ไม่ชอบน้ำอย่าง -Si (CH3)3 กับหมู่ -OH บนชั้นฟิล์มส่งผ่านอิเล็กตรอน TiO2 เทคนิคดังกล่าวช่วยเพิ่มคุณภาพของฟิล์มเพอรอฟสไกต์ให้มีความเป็นผลึกที่ใหญ่และความเสถียรที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดการรวมกลับของประจุไฟฟ้าที่รอยต่อระหว่างชั้นส่งผ่านอิเล็กตรอนกับชั้นดูดกลืนแสงเพอรอฟสไกต์ จึงทำให้มีประสิทธิภาพการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 17% และมีความทนทานต่อความชื้นสูง

เทคนิคดังกล่าวถือว่าเป็นเทคนิคที่ง่าย ต้นทุนต่ำ มีประสิทธิภาพและความทนทานต่อความชื้นสูง เหมาะสำหรับการใช้งานในประเทศไทย โดยถือว่าเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดต่อไปในอนาคต

งานวิจัยนี้จึงสอดคล้องกับ SDG 7: Affordable and Clean Energy ที่มุ่งเน้นการสร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้และยั่งยืนในราคาย่อมเยาว์

งานวิจัยถูกตีพิมพ์ในวารสาร Applied Surface Science (Q1 ISI/Scopus,Impact Factor 7.392) Published: March 2023
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://doi.org/10.1016/j.apsusc.2022.155969

นักวิจัย 
ทีมนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยเซลล์แสงอาทิตย์ (SCRL) ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย
รศ.ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล, รศ.ดร.พิพัฒน์ เรือนคำ, นางสาววรพรหม พัสธรธัชกร (นักศึกษาระดับปริญญาเอก), นางสาววารุณี คำปา (นักศึกษาระดับปริญญาโท), นายวงศธร มุสิกปาน (นักศึกษาระดับปริญญาโท) และ ดร. ชวลิต ภู่มณี ร่วมกับทีมนักวิจัยจาก Institute of Solar Energy, Shanghai Jiao Tong University สาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบด้วย Mr. Sadeq Abbasi, Dr. Hong Liu และ Prof. Dr. Wen Zhong Shen
แกลลอรี่