พื้นที่แห่งศรัทธาและปัญญา ณ ศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

6 กรกฎาคม 2565

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     พื้นที่เพียงไม่กี่ตารางเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจดูน้อยนิด เมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่กลับเป็นพื้นที่ที่ทรงพลังที่สุดในฐานะที่พึ่งทางใจของนักศึกษา มช. ทุกรุ่น นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาใกล้สอบ ซึ่งมักจะมีนักศึกษามาบนบานศาลกล่าว หรืออธิษฐานขอพรจากพ่อปู่ช้าง ณ ศาลพระภูมิแห่งนี้ว่า “ขอให้ลูกช้างเรียนจบ”

     ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างไร อาจไม่เคยมีการบันทึกสถิติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่บันทึกอยู่ในความทรงจำของชาว มช. ทุกรุ่นที่ผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมาด้วยตัวเอง...


     ย้อนกลับไปเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน ภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่รุ่นแรก และคณาจารย์ ที่มาร่วมพิธีตั้งศาลพระภูมิ คงจะบอกเล่าได้ดีกว่าคำบรรยายใด ๆ ถึงความเคารพและให้ความสำคัญ ต่อศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในช่วงแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2507 สภาพพื้นที่ประมาณ 580 ไร่ ของ มช. ส่วนใหญ่เป็นป่า และส่วนหนึ่งเป็นที่ดินของเอกชนที่มหาวิทยาลัยได้จัดซื้อและเวนคืน นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ยังบันทึกไว้ว่า ที่ดินส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยเป็นที่ตั้งของเวียงเจ็ดลิน เมืองเก่าของชนพื้นเมืองในแถบดอยสุเทพในอดีต

พื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อแรกก่อตั้ง


     ในปีแรกของการก่อตั้ง มช. ขณะที่มีการหักร้างถางพงเพื่อก่อสร้างอาคารต่าง ๆ คณะกรรมการดำเนินงานก่อตั้งฯ ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการประกอบพิธีตั้งศาลพระภูมิ ตามความเชื่อของคนไทย ที่สืบต่อกันมาแต่โบราณที่ว่า เมื่อมีการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ จะมีการตั้งศาลพระภูมิก่อน เพื่ออัญเชิญพระภูมิเจ้าที่มาสิงสถิตเพื่อปกปักรักษาพื้นที่หรืออาคารบ้านเรือน จึงได้มีพิธี ตั้งศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 โดยลักษณะของศาลพระภูมิเป็นอาคารหลังเล็กคล้ายวิหารบนเสาต้นเดียว ตั้งอยู่ด้านหน้าศาลาธรรม ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากถนนทางเข้ามหาวิทยาลัย

พิธีตั้งศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัย เมื่อวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2507
ณ บริเวณหน้าตึกมหาวิทยาลัย (ศาลาธรรมในปัจจุบัน)

     ในเรื่องการตั้งศาลพระภูมิ มช. นี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุมนา คำทอง อดีตหัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเมื่อครั้งที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.บัวเรศ คำทอง (อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี และได้มีส่วนสำคัญในการตั้งศาลพระภูมิ มช. ไว้ว่า

     “ส่วนงานของรองอธิการบดีผู้นี้ยิ่งแปลกล้ำลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งท่านอธิการบดี พ.อ.พระยาศรีวิสารวาจา ได้เน้นไว้ว่า จำเป็นต้องมีศาลพระภูมิ จนท่านลงทุนคลี่แผนผังของ มช. ในสมัยนั้น และชี้ตำแหน่งที่จะตั้งศาลพระภูมิ

     ในช่วงนั้นมีอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์กลุ่มเล็ก ๆ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแวะเยี่ยมอาจารย์บัวเรศ...ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ อาจารย์ทุกคน ณ ที่นั้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ และผ่านการศึกษาเล่าเรียนจากต่างประเทศมาแล้วทั้งสิ้น แต่เมื่อมาถึงบ้านพักของอาจารย์บัวเรศ อาจารย์เหล่านั้นก็บอกความประสงค์ว่า ‘จะมาเล่นผีถ้วยแก้วให้อาจารย์ดู’ และถามว่าอาจารย์บัวเรศต้องการให้เชิญใครมาเข้าผีถ้วยแก้ว อาจารย์บัวเรศก็ตอบว่า ‘ให้อัญเชิญเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่พิราลัยไปแล้ว’ สิ่งที่ทุกคน ณ ที่นั้นได้ดู จากใจความที่ถ้วยแก้วเคลื่อนไปก็คือ ‘มาขอบใจบัวเรศและสุมนา ที่ทำที่อยู่ให้ ไม่มีที่อยู่มานานแล้ว และขออาหารพื้นเมืองกินบ้าง’

     …การบำรุงขวัญข้าราชการและนักศึกษาที่พำนักอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่อาจารย์บัวเรศต้องทำตามบัญชาของท่านอธิการบดี เรื่องนี้เป็นเกร็ดเล็ก ๆ แต่ให้ผลดีมหาศาล ก็คือ ท่านอธิการบดีมอบข้าวสารเสกฝากมาให้ถุงใหญ่ และกำชับว่าให้แบ่งใส่ถุงเล็กแจกอาจารย์ ทุก ๆ บ้านพัก และทุก ๆ หอพักนักศึกษา ซึ่งเดือดร้อนกันว่าถูกผีหลอก แม้แต่กลางวันแสก ๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ขวัญของนักศึกษาก็ดีขึ้น”

(ซ้ายสุด) ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง
รักษาการรองอธิการบดีและคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ในพิธีตั้งศาลพระภูมิ



      จากวันนั้นถึงวันนี้กว่า 50 ปีแล้ว ที่ศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือที่เรียกขานกันว่า “พ่อปู่ช้าง” เป็นที่พึ่งทางใจของชาว มช. ทุกรุ่น โดยในแต่ละวัน กลิ่นธูปจากการสักการะพ่อปู่ช้าง แทบไม่เคยจางหายไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาเปิดเทอม ซึ่งมีการจัดงานประเพณีรับน้องรถไฟและรับน้องขึ้นดอย นักศึกษาใหม่จะมากราบไหว้ขอพร ฝากเนื้อฝากตัวให้พ่อปู่คุ้มครองตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ในรั้ว มช. เปรียบเสมือนการแสดงความเคารพของผู้มาใหม่ต่อเจ้าของบ้านที่อยู่มาก่อนนั่นเอง

     นอกจากนี้ ในการจัดพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น วันสถาปนามหาวิทยาลัย วันรับน้องขึ้นดอย หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่จัดขึ้นกลางแจ้ง ขั้นตอนที่ผู้จัดงานให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ คือ การบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ เพื่อให้ท่านดูแลปกปักรักษากิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในวันนั้นให้สำเร็จราบรื่น เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเสริมกำลังใจแก่ผู้จัดกิจกรรม ทำให้กิจกรรมที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยมีความราบรื่น ไร้อุปสรรคใด ๆ และหลายครั้งก็ไม่สามารถหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้

      ในเรื่องนี้ ดร.สมทบ พาจรทิศ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ จากคณะเทคนิคการแพทย์ ซึ่งมีประสบการณ์ตรงในฐานะคณะกรรมการดำเนินงานด้านส่งเสริมศาสนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ไขคำตอบให้ฟังว่า


ดร.สมทบ พาจรทิศ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ

     “เวลานักศึกษาจะจัดกิจกรรม เห็นครึ้มฟ้าครึ้มฝน ไปบอกพ่อปู่หน่อย พอบอกกล่าวท่าน ฝนก็ไม่ตก มันก็เป็นเรื่องที่แปลก หรืออย่างที่พวกผมได้ประสบมาโดยตรง บางทีเราเตรียมของจัดงานไว้ทั้งหมดแล้ว ถ้าฝนตกจะทำอย่างไร? ใครก็ช่วยไม่ได้ แต่พอจุดธูปแล้วเมฆฝนก็หายไป เราได้ประสบโดยตรงมาแล้วว่า เมื่อเรามีความเชื่อ มีความเคารพสิ่งที่มองไม่เห็น ผลเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น เขาเห็นเราแต่เราไม่เห็นเขา เบื้องต้นคือจิตของเราต้องไม่คิดอกุศล หรือหากเราไม่เคารพ เราก็ผ่านไปเฉย ๆ อย่าไปลบหลู่ อย่างศาลพระภูมินี้ คนส่วนใหญ่ที่อยู่ใน มช. ขี่รถผ่านทุกคนต้องหยุดยกมือไหว้ เหมือนเราเข้าไปบ้านคนอื่นเรายกมือไหว้ แต่ถ้าเราไม่เคารพเขา เขาก็ไม่เอื้ออาทรเราเป็นเรื่องธรรมดา

     ...เรื่องที่พึ่งทางใจนี้อาจจะอธิบายได้ว่า กายกับจิตเป็นของคู่กัน ถ้าเราไม่สบายกาย ใจเราก็ไม่สบายไปด้วย เวลาเราเจ็บป่วยเราไปหาหมอ ไปโรงพยาบาล แต่เวลาเราไม่สบายใจเราจะไปไหนล่ะ? ต่อให้อยู่ตึกหรูหราสูง 100 ชั้น แต่ถ้าคุณไม่สบายใจมันก็ไม่มีค่าอะไร เพราะฉะนั้น คนเราจึงต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งบางครั้งก็คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราเคารพนั่นเอง”

     ในปีหนึ่ง ๆ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาตลอดทั้งปี เนื่องจากสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย ในการสืบสานวัฒนธรรมล้านนา - ไทย โดยคณะกรรมการดำเนินงานด้านส่งเสริมศาสนาเป็นหน่วยงานหลักที่จัดกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ และพิธีกรรมสำคัญอื่น ๆ เช่น พิธีบูชาท้าวจตุโลกบาลตามประเพณีล้านนา และพิธีถวายเครื่องสักการะบวงสรวงศาลพระภูมิเจ้าที่ตามความเชื่อของไทย ในวันสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษา เช่น ประเพณีรับน้องขึ้นดอยนั้น จะรับผิดชอบโดยสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อได้มีการสักการะบวงสรวงต่อพระภูมิเจ้าที่แล้ว กิจกรรมต่าง ๆ ก็ผ่านพ้นลุล่วงไปด้วยดีทุกครั้ง ภายใต้ “ความศรัทธา” และ “ความเชื่อ” ที่เสมอกัน ดังที่ ดร.สมทบ ได้อธิบายว่า

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เป็นประธานในพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ และพิธีถวายเครื่องสักการะบวงสรวงศาลพระภูมิเจ้าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     “ความเชื่อต้องประกอบไปด้วย 2 สิ่ง คือ ศรัทธากับปัญญา ถ้าศรัทธาความเชื่อนำปัญญา ก็จะเป็นเรื่องของความงมงายจนลืมหลักการของความจริง ต้องพิจารณาเหตุผลว่าสิ่งที่ทำนั้นมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร แต่บางคนใช้ปัญญามากเกินไป ไม่เชื่อว่าทำบุญแล้วจะได้อะไร ชาตินี้ทั้งชาติจึงไม่ได้แบ่งปันอะไรให้ใคร เพราะฉะนั้น ศรัทธากับปัญญาต้องเสมอกัน อย่าให้อะไรมากกว่ากัน”

     ใน พ.ศ. 2562 ได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ เมื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีโครงการบูรณะปรับปรุงศาลพระภูมิมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และภูมิทัศน์โดยรอบให้มีความสวยงาม เนื่องจาก ที่ผ่านมาศาลพระภูมิมีสภาพชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้จัดพิธีรื้อถอนศาลพระภูมิตามประเพณีล้านนาและพิธีพราหมณ์ เพื่อประกอบพิธีขอขมาขออนุญาตพระภูมิ และเชิญพระภูมิไปประดิษฐาน ณ ศาลเพียงตา บริเวณข้างศาลพระภูมิ ด้านหน้าศาลาธรรม เพื่อใช้เป็นที่สักการะชั่วคราว เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2562 โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธาน และต่อมาในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562 จึงได้มีพิธีสมโภชศาลพระภูมิหลังใหม่ และมีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงามมากขึ้น


ช้างมงคลที่มักมีผู้นำมาถวายศาลพระภูมิ

     ในวันนี้ ศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีความสง่างามสมกับเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิทยาลัย สำหรับผู้ที่ต้องการมาสักการะศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ควรบูชาพ่อปู่ช้างด้วยดอกไม้ธูปเทียน หากมีการถวายอาหารหรือเครื่องดื่มให้นำกลับไปด้วย และงดเว้นการผูกผ้าสี ในทุกกรณี หรืออาจปฏิบัติบูชาด้วยการทำความสะอาดศาลพระภูมิก็ได้เช่นกัน...นี่คือหนทางหนึ่งของการสร้างสมดุลทางกายและใจของนักศึกษา มช. ทุกรุ่นทุกยุคทุกสมัย...บนพื้นที่แห่งศรัทธาและปัญญา ในนามของ “ศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ที่หลายคนสามารถพูดได้เต็มปากว่า “เรียนจบมาได้เพราะไหว้ศาลพระภูมิ มช.”

เอกสารอ้างอิง
- หนังสือที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 24 มกราคม 2508
- หนังสือครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- วารสารลูกช้าง ปีที่ 7 ฉบับที่ 2