วิศวฯ มช. นำเครื่องต้นแบบ Torrefactor และ Pyrolyzer ไปใช้ในชุมชนเพื่อลดปัญหาการเผาเศษพืชผลทางการเกษตร ณ อบต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

15 กุมภาพันธ์ 2567

คณะวิศวกรรมศาสตร์

         คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศาสตราจารย์ ดร.นคร ทิพยาวงศ์ อาจารย์สังกัดภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล พร้อมทีมงาน เดินทางไปยังอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพื่อสาธิตวิธีการใช้เครื่องต้นแบบ Torrefactor และ Pyrolyzer พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสำหรับทดลองใช้เป็นระยะเวลา 15 วันโดยประมาณให้คนในชุมชนสามารถเรียนรู้การใช้เครื่อง เพื่อลดปัญหาการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้กับทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567

         ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินงานภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการลงพื้นที่จริงเพื่อถ่ายทอดความรู้ พร้อมสาธิตวิธีใช้ เครื่องต้นแบบ Torrefactor และ Pyrolyzer ให้กับทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (ERDI CMU) โดยการนำซังข้าวโพดซึ่งเป็นชีวมวลที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดที่พบได้มากในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มและอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้เกษตรกรมักจะเผาเศษเหลือทิ้งส่วนลำต้น และซังข้าวโพดหลังจากการเก็บเกี่ยวเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ

         เครื่องต้นแบบ Torrefactor และ Pyrolyzer ยังสามารถใช้ได้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ไม้ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง มะพร้าว มาแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงที่ให้ค่าความร้อนสูงขึ้นในรูปแบบถ่าน และน้ำมันชีวภาพ โดยน้ำมันชีวภาพที่ได้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ น้ำส้มควันไม้ และน้ำมันดิน (Tar) ซึ่งถ่านและน้ำมันชีวภาพที่ได้จะสามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร อีกทั้งช่วยลดปัญหาหมอกควันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

แกลลอรี่